ความท้าทาย

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทตระหนักว่าการบริหารจัดการคู่ค้าที่ดีเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าให้ทุกบริษัทในห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ การลดความเสี่ยงที่เกิดจากคู่ค้ายังเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่บริษัทต้องบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจให้น้อยที่สุด

แนวทางการปฏิบัติงาน

บริษัทได้จัดทำจรรยาบรรณคู่ค้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คู่ค้าธุรกิจของบริษัทและบริษัทในเครือมุ่งดำเนินธุรกิจภายใต้การดำเนินงานอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ตลอดจนเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้าในการดำเนินธุรกิจอย่างสอดคล้องกับข้อกำหนด กฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานสากล ซึ่งครอบคลุมประเด็นจริยธรรมทางธุรกิจ การปฏิบัติด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ปฏิบัติงาน และความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม
บริษัทได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพ การประเมินความเสี่ยงและผลการดำเนินงานของคู่ค้า นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งสนับสนุนให้คู่ค้าดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและมีความเป็นธรรมสำหรับการปฏิบัติด้านแรงงาน รวมไปถึงปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

จรรยาบรรณคู่ค้าการทำงานคู่ค้า

จรรยาบรรณคู่ค้า
จริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics) การปฏิบัติด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน (Human Rights and Labor) ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Safety and Occupational Health) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ปฏิบัติงาน (Environment) ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม (Social Responsibility)
  • การกำกับดูแลกิจการ
  • การปฏิบัติที่เสมอภาคและเป็นธรรม
  • ทรัพย์สินทางปัญญา
  • การเปิดเผยข้อมูลและการรักษาความลับ
  • การส่งมอบและคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการ
  • การปฏิบัติตามกฎหมาย
  • การไม่เลือกปฏิบัติ
  • การคุ้มครองแรงงาน
  • การไม่บังคับใช้แรงงาน
  • การจ่ายค่าจ้างผลประโยชน์และระยะเวลาการทำงาน
  • ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
  • อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
  • การเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • การดำเนินด้านสิ่งแวดล้อมต้องตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ของภาครัฐ
  • การมีมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • การส่งเสริมให้พนักงานใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจถึงผลกระทบต่อชุมชนและสังคม
  • การเคารพในวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น
  • การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนและสังคม

การดำเนินงาน

แนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสำหรับคู่ค้า

บริษัทได้ดำเนินการประเมินด้านความยั่งยืนสำหรับคู่ค้า ผ่านกระบวนการจัดเตรียมข้อมูล แบบสอบถาม ตลอดจนกำหนดแนวทาง และวิธีการดำเนินงานตรวจประเมิน พร้อมกันนี้ บริษัทเริ่มดำเนินการตรวจประเมินคู่ค้าในด้านความยั่งยืนเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2562 รวมถึงกำหนดเป้าหมายเพิ่มเติม ในการลงพื้นที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของคู่ค้าให้เป็นไปตามจรรยาบรรณคู่ค้าที่บริษัทกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมุ่งปรับปรุงกระบวนการประเมินคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสอดรับกับนโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กร

การดำเนินการ ปี 2565

การอบรมด้านสิทธิมนุษยชนให้กับคู่ค้า

ในปี 2565 โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ได้จัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนให้กับคู่ค้าหลัก และคู่ค้าทั่วไป จำนวนรวม 28 ราย โดยมีจุดประสงค์ในการสื่อสารนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัท และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้กับคู่ค้าเพื่อสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับคู่ค้าในการดำเนินธุรกิจ ผลลัพธ์ที่ได้คือการลดและป้องกันกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยกระดับความรู้ของคู่ค้า และชุมชน

การประเมินความเสี่ยงคู่ค้า

บริษัทมีกระบวนการประเมินความเสี่ยงคู่ค้า และผลกระทบที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กร ภายใต้เกณฑ์การประเมินความเสี่ยงที่บริษัทได้กำหนดไว้ ได้แก่ ระดับโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง (Likelihood) ระดับความรุนแรงของผลกระทบ (Impact) ในประเด็นต่าง ๆ ด้านความยั่งยืน ทั้งในมิติบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมประเด็นจริยธรรมทางธุรกิจ การปฏิบัติด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การจัดการสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม โดยกำหนดระดับความเสี่ยงไว้ 4 ระดับ

ในปี 2565 มีคู่ค้าทั้งหมด 492 ราย คิดเป็นร้อยละ 100 ที่บริษัทได้ประเมินความเสี่ยง ผลจากการประเมินความเสี่ยงคู่ค้าพบว่าส่วนใหญ่มีระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งถ้าหากการประเมินความเสี่ยงของคู่ค้ามีประเด็นที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก บริษัทจะมีมาตรการการจัดการความเสี่ยงเพื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ประเด็นที่มีความเสี่ยง มาตรการจัดการความเสี่ยง
ประเด็นที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงมาก
  • การใช้แรงงานเด็ก/ต่างด้าวผิดกฎหมาย
  • กำหนดหลักเกณฑ์ประเมินคุณสมบัติคู่ค้า
  • การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือบังคับแรงงาน
  • เยี่ยมชมกิจการ
  • แจ้งรายชื่อ / ประวัติ / สำเนาบัตรประชาชนคนงานที่เข้าทำงาน
  • ใบขึ้นทะเบียนกรณีแรงงานต่างด้าว
  • ขึ้นบัญชีคู่ค้าต้องห้าม
  • ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงาน
  • มีการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยก่อนการทำงาน
  • กำหนดให้มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับแรงงานในสัญญาจ้าง
  • การบริหารผู้รับเหมาช่วงของคู่ค้า
  • มีการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยก่อนการทำงาน
  • กำหนดเงื่อนไขด้าน ESG ภาคของผู้รับเหมาช่วงในสัญญาของคู่ค้าหลัก
  • ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยของบริษัทฯ
การคัดกรองคู่ค้ารายใหม่

บริษัทกำหนดให้เกณฑ์การคัดเลือกคู่ค้ารายใหม่ (New Approved Vendor) ที่ครอบคลุมถึงประเด็นด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีกระบวนการการคัดกรองคู่ค้ารายใหม่ และการประเมินคัดเลือกคู่ค้ารายใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าทุกรายของบริษัท

การประเมินคัดเลือกคู่ค้ารายใหม่ กระบวนการคัดเลือกคู่ค้า
บริษัทกำหนดให้มีการประเมินคู่ค้ารายใหม่ (New Vendor Evaluation) ครอบคลุมประเด็นด้านความยั่งยืน ประกอบด้วย ด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การประกันสินค้าและบริการ การส่งมอบผลิตภัณฑ์ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน และมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมกันนี้ บริษัทมุ่งสนับสนุนและสื่อสารแนวปฏิบัติทางธุรกิจสำหรับคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง ในกระบวนการคัดเลือกคู่ค้า บริษัทดำเนินการคัดกรองคู่ค้าด้วยวิธีการประเมินคุณสมบัติเพื่อให้ได้คู่ค้าที่พึงประสงค์ โดยคู่ค้าทุกรายจะต้องถูกประเมินโดยใช้หลักเกณฑ์ครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม คุณภาพสินค้า การบริการ การส่งมอบ ประสบการณ์ในการดำเนินงาน การรับประกันสินค้า มาตรฐานด้านความปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นสำคัญในการพิจารณา

คู่ค้าทั้งหมดในปี 2565 ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหม่ทั้งหมดของบริษัท จำนวน 78 ราย ได้รับการประเมินด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เกณฑ์การคัดกรองคู่ค้าใหม่ สัดส่วนของคู่ค้าใหม่ที่ได้รับการประเมินปี 2565 เป้าหมายปี 2565

ด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ

  • มีการรายงานผลประกอบการ หรือสถานะทางการเงินต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้
  • มีการดำเนินงานภายใต้กฎ กติกา จริยธรรม และการแข่งขันอย่างยุติธรรมและเป็นธรรม
  • มีการสนับสนุน และร่วมมือในการต่อต้านทุจริต ทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสาธารณะ
  • มีการเคารพในทรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความลับ หรือข้อมูลใดๆ จากการทำธุรกิจกับลูกค้า
  • มีการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และมีนวัตกรรมทางธุรกิจ
  • มีการรับรู้และปฏิบัติตามคู่มือ “คุณธรรมและข้อพึงปฏิบัติงานสำหรับคู่ค้า ของ CKPower"
100% 100%

เกณฑ์การคัดกรองคู่ค้าใหม่ในมิติสิ่งแวดล้อม

  • การจัดการสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ รวมถึงมีการตรวจสอบติดตามให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
  • ปรับปรุงการปฏิบัติงานให้สนับสนุนการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • มีการจัดการน้ำ มลพิษ และของเสียอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับกฎหมาย
  • ได้รับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม หรือปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากล
100% 100%

เกณฑ์การคัดกรองคู่ค้าใหม่ในมิติสังคม

  • ปฏิบัติตามกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนสากล
  • ไม่ปฏิบัติ หรือไม่สนับสนุนให้มีการใช้แรงงานบังคับ และแรงงานเด็กซึ่งอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดทุกรูปแบบ
  • มีการตอบแทนพนักงานและสวัสดิการต่าง ๆ ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน
  • ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเสมอภาค และเคารพความหลากหลาย
  • กำหนดนโยบายป้องกันการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และการคุกคามทางร่างกาย ทางเพศ และทางวาจา รวมถึงการข่มขู่ หรือการรังควาน
  • เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเจรจาต่อรองตามขั้นตอนของกฎหมาย
  • สภาพแวดล้อม และอุปกรณ์ในการทำงานปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และมีระบบการบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ได้การรับรองมาตรฐานในระดับสากล
100% 100%
การวิเคราะห์คู่ค้าสำคัญ

บริษัทได้จำแนกคู่ค้าเป็น 3 ประเภท คือ คู่ค้าหลัก (Critical Tier 1 Supplier) คู่ค้ารอง (Non-Critical Tier 1 Supplier) คู่ค้าทางอ้อมรายสำคัญ (CCritical Non Tier 1 Supplier) ซึ่งทำให้บริษัทสามารถวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเภทคู่ค้า สัดส่วน
1. คู่ค้าหลัก
(Critical Tier 1 Supplier)
คู่ค้าทางตรงที่มีมูลค่าสัญญาสูงต่อปีเท่ากับหรือมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือ คู่ค้าที่ไม่สามารถทดแทนได้: เช่น คู่ค้าด้านการก่อสร้างและวิศวกรรมขั้นสูง หรือหาสินค้าทดแทนยาก และอยู่ในกลุ่มของชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่สำคัญต่อขบวนการผลิต และมีความเสี่ยงสูงมาก หรือสูง ได้แก่
  • คู่ค้าที่มีการทำสัญญาระยะยาว มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และวิศวกรรมขั้นสูง ไม่สามารถทดแทนได้ มีมูลค่าของสัญญาสูง มีผลต่อการผลิตไฟฟ้าของบริษัท
  • คู่ค้าที่อยู่ในส่วนอุปกรณ์หรือบริการที่สำคัญต่อการผลิต มีมูลค่าการสั่งซื้อสูง
  • คู่ค้าที่อยู่ในส่วนอุปกรณ์หรือบริการที่สำคัญต่อการผลิต มีมูลค่าสูง
15%
2.คู่ค้ารอง
(Non-Critical Tier 1 Supplier)
คู่ค้าทางตรงทั่วไปที่มียอดการงานใช้ปานกลางหรือมูลค่าสัญญาต่ำและมีความเสี่ยงอยู่ในระดับกลางหรือความเสี่ยงต่ำ 85%
3. คู่ค้าทางอ้อมรายสำคัญ
(Critical Non Tier 1 Supplier )
คู่ค้าที่ไม่ได้มีการซื้อขายกับบริษัทโดยตรงแต่ทำการซื้อขายกับคู่ค้าของบริษัท โดยคัดเลือกจากกลุ่มคู่ค้าของคู่ค้าที่เป็น Critical Tier 1 Supplier ของบริษัท 0%
การตรวจประเมินและติดตามการดำเนินงานของคู่ค้า

การตรวจประเมินผลงานหรือประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทคู่ค้า ยึดหลักเกณฑ์และจรรยาบรรณคู่ค้าของบริษัท เพื่อให้ทางบริษัทใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกำลังความสามารถของคู่ค้าครอบคลุม ด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการตรวจประเมินคู่ค้าที่บริษัทดำเนินการ ได้แก่ การประเมินคู่ค้ารายปี (Yearly Performance Evaluation) การประเมินระหว่างปฏิบัติงาน และการตรวจประเมิน On Site Audit

ในกรณีที่คู่ค้ามีผลการประเมินต่ำ หรือไม่ผ่านการประเมิน บริษัทจะระงับการจัดซื้อจัดจ้างชั่วคราวหรือถอนชื่อออกจากทะเบียนคู่ค้าของบริษัท โดยใช้แบบตรวจสอบผู้ขาย / ผู้ให้บริการ (Site Audit Checklist) เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบ และจะให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพร่วมกัน เพื่อช่วยให้คู่ค้าทางธุรกิจมีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น

ผลการตรวจประเมินประสิทธิภาพคู่ค้า

ปี 2565 บริษัทดำเนินการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน ที่ครอบคลุมการบริหารจัดการด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) ของคู่ค้าจำนวนทั้งสิ้น 492 ราย คิดเป็นร้อยละ 100 ของคู่ค้าทั้งหมดปี 2565 ที่มีธุรกิจร่วมกัน แบ่งเป็นคู่ค้ารายเดิม จำนวน 349 ราย และคู่ค้ารายใหม่ จำนวน 78 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 ของคู่ค้าทั้งหมด ซึ่งคู่ค้ารายใหม่ทั้งหมดของบริษัท จำนวน 78 ราย ได้รับการประเมินด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

การตรวจประเมิน On Site Audit ปี 2565

การตรวจประเมิน On Site Audit เป็นการลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานประกอบการว่าได้ทำตามข้อกำหนดตามจรรยาบรรณคู่ค้าของบริษัท ซึ่งนอกจากจะตรวจประเมินคู่ค้าที่ได้ผลการประเมินประสิทธิภาพการทำงานในระดับ D แล้ว ยังมุ่งเน้นไปยังกลุ่มคู่ค้าหลักที่มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิต เพื่อช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหา และให้คำแนะนำ ประกอบกับวางแผนพัฒนาศักยภาพคู่ค้าร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงานและคู่ค้าก่อนการประเมินอีกครั้ง โดยในปี 2565 มีคู่ค้าที่ได้รับการตรวจประเมิน On Site Audit มีจำนวน 4 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นคู่ค้าหลักที่มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิต

การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้า

บริษัทมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้าผ่านโครงการอบรม สัมมนา และกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสื่อสารแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ให้คู่ค้ารับทราบ

กิจกรรมการอบรมให้ความรู้ให้กับคู่ค้าด้านความปลอดภัย
การอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและวิธีการกู้ชีพให้กับคู่ค้า

ในปี 2565 โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่นได้มีการจัดการอบรมให้ความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและวิธีการกู้ชีพ (CPR) ให้กับคู่ค้าของโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่นในประเภท คู่ค้าทั่วไป จำนวน 10 ราย ในการอบรมนี้ โรงไฟฟ้าได้รับความร่วมมือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นวิทยากรในการอบรม ผลลัพธ์ที่ได้คือการสร้างความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานให้กับคู่ค้า เพื่อลดความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการประสบเหตุและสามารถนำไปเผยแพร่ต่อยอดในการดำเนินกิจการของคู่ค้าได้อีกด้วย

โครงการจัดซื้อจัดจ้าง สีเขียว (Green Procurement)

บริษัท ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้มีนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่ ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ จากทรัพยากรหมุนเวียนและไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว เป็นต้น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงของพนักงาน และองค์กร จากส่วนประกอบจากวัสดุที่เป็นอันตราย และเพื่อพลักดันการอุปโภคผลิตภัณฑ์สินค้ากระแสสีเขียวให้เป็นค่านิยมของผู้บริโภคในองค์กรและสังคม ควบคู่ไปกับความสามารถในการลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย ผ่านการบริโภคอย่างยั่งยืนและคุ้มค่า โดยในปี 2565 มูลค่าการจัดซื้อเครื่องใช้สำนักงานฉลากเขียวและอุปกรณ์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ได้รับ Energy star รวมมูลค่าทั้งหมด 5,157,748 คิดเป็น 65.39% ของการจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และ เครื่องใช้สำนักงานทั้งหมด

การจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่น (Local Supplier)

บริษัทสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่น ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทให้เร็วขึ้น อีกทั้งได้ส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนผ่านการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น และสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกและความเชื่อมั่นของชุมชน

โรงไฟฟ้า สัดส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่น*
บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด 10%
บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด 16%
บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด 19%
บริษัท บางเขนชัย จำกัด 1%

*ท้องถิ่น หมายถึง ในจังหวัดเดียวกับโรงไฟฟ้าของบริษัท หรือ หากอยู่ในสปป.ลาว หมายถึง ภายในสปป.ลาว

สินเชื่อการค้า (Trade Credit)

ในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงในการเรียกเก็บเงินจากลูกค้า บริษัทมีนโยบายให้เครดิตทางการค้าเป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วันแก่คู่ค้าของบริษัท โดยบริษัทพิจารณาว่าความเสี่ยงด้านเครดิตจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมีการชำระการจ่ายเงินตามสัญญาเกิน 30 วัน ทั้งนี้ ในปี 2565 ระยะเวลาการให้เครดิตเฉลี่ยที่เกิดขึ้นจริงอยู่ที่ 20 วัน โดยระยะเวลาดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายที่บริษัทกำหนดไว้