การจัดการสิ่งแวดล้อม
ความท้าทาย
แนวทางการปฏิบัติงาน
บริษัทมีวิสัยทัศน์จะมุ่งเน้นที่การลงทุนหลักในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งนับเป็นสัดส่วนกำลังการผลิต 89% ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ แม้ว่าบริษัทจะยังมีระบบโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าควบคู่กับการผลิตไอน้ำ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง อยู่ในระยะเวลาสัมปทาน แต่บริษัทยังคงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนากระบวนการผลิตที่ลดการเกิดมลภาวะ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทมุ่งเน้นที่การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ใด้น้อยที่สุด และพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด มุ่งสู่มาตรฐานสากล และพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ สู่พนักงานรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรต่อไป
แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัท

01 มุ่งเน้นการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน

02 บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้น้อยที่สุด

03 พัฒนาองค์กรความรู้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดและมุ่งสู่มาตรฐานสากล

04 สร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาและการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนในชุมชน
บริษัทได้จัดทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม แนวปฎิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดภายในโรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัท ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนรอบโรงไฟฟ้าไปพร้อม ๆ กัน โดยโรงไฟฟ้าของบริษัทได้การรับรองมาตรฐานสากลด้านระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 อีกทั้งโรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัทได้รับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ การบรรเทาและป้องกันการเกิดผลกระทบ และการเยียวยาแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น ทุกโรงไฟฟ้าของบริษัทได้รับความเห็นชอบให้สามารถดำเนินกิจการจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง และบริษัทได้รายงานผลการดำเนินงานตามที่ได้ระบุไว้ในมาตรการป้องกันแก้ไขสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
แนวปฏิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายระยะยาว


เป้าหมายระยะสั้น

การดำเนินงาน
บริษัทตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจการผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และชุมชนโดยบริษัทมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะน้อยและใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ยิ่งไปกว่านั้นทางบริษัทยังให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างธุรกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การจัดการข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อม
บริษัทมีความมุ่งมั่นที่ปฎิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนด มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนร่วมกับชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทได้มีการจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ดำเนินการในการรับฟังความคิดเห็นในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบติดตามด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและตัวแทนจากชุมชนเพื่อสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท
การดำเนินงานจนถึงปี 2565 บริษัทและบริษัทในเครือไม่มีข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมจากชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าและผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ได้รับการจัดการ รวมทั้งไม่มีการละเมิดกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด และไม่มีเงินค่าปรับเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม
ตัวชี้วัด | ปี 2562 | ปี 2563 | ปี 2564 | ปี 2565 |
---|---|---|---|---|
จำนวนข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อม (กรณี) | 0 | 0 | 0 | 0 |
จำนวนข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว (กรณี) | 0 | 0 | 0 | 0 |
การละเมิดกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (กรณี) | 0 | 0 | 0 | 0 |
เงินค่าปรับเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (บาท) | 0 | 0 | 0 | 0 |
เงินค่าปรับเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะต้องเสียภายในสิ้นปี (บาท) | 0 | 0 | 0 | 0 |
การจัดการทรัพยากรน้ำ
ทรัพยากรน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อกระบวนการผลิตไฟฟ้าของบริษัท โดยบริษัทมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำมากกว่าร้อยละ 80 จากการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้น การจัดการน้ำของบริษัทจึงคำนึงตั้งแต่การเฝ้าระวังแหล่งน้ำเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำ การลดการใช้น้ำ การใช้น้ำเท่าที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไปจนถึงการควบคุมคุณภาพน้ำที่ปล่อยออกของทุกอาคารและพื้นที่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
กระบวนการติดตามสถานการณ์น้ำ
บริษัทได้จัดให้มีกระบวนการติดตามสถานการณ์ของแหล่งน้ำต้นทางที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตของแต่ละโรงไฟฟ้า โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านการขาดแคลนน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำโดยใช้เครื่องมือ AQUEDUCT Water Risk Atlas พัฒนาโดยสถาบันทรัพยากรโลก World Resources Institute (WRI) เพื่อระบุพื้นที่ที่มีความตึงเครียดด้านน้ำเป็นประจำทุกปี และวางมาตรการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งมีการประเมินและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งการศึกษาผลกระทบต่อการผลิตและการอุปโภคบริโภคของชุมชนในพื้นที่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นในการอนุรักษ์น้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กำหนดมาตรการวิธีป้องกัน บรรเทาผลกระทบ และกำหนดเป้าหมายในการจัดการทรัพยากรน้ำ การควบคุมคุณภาพน้ำปล่อยออกสู่ภายนอกให้มีคุณภาพตามข้อกำหนดทางกฎหมาย รวมถึงมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ และ การพัฒนานวัตกรรมในกระบวนการผลิตไฟฟ้าให้ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจึงมีแหล่งน้ำจากระบบการประปาของนิคมอุตสาหกรรมและมีบริษัทผู้รับเหมารับผิดชอบในการบำบัดน้ำก่อนปล่อยออก บริษัทได้กำหนดคุณภาพของน้ำปล่อยออกให้มีคุณภาพตามข้อกำหนดทางกฎหมายและมาตรฐานคุณภาพน้ำของการนิคมอุตสาหกรรม
- โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ใช้น้ำจากแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน เพื่อการอุปโภคและบริโภคของพนักงาน และหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ภายในโรงไฟฟ้าก่อนปล่อยออก และมีการควบคุมคุณภาพของน้ำปล่อยออกให้มีคุณภาพตามข้อกำหนดทางกฎหมาย
- โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ใช้น้ำจากแหล่งน้ำระบบประปา จากแหล่งน้ำผิวดินหมุนเวียนใช้ประโยชน์ภายในโรงไฟฟ้า และมีการควบคุมคุณภาพของน้ำปล่อยออกให้มีคุณภาพตามข้อกำหนดทางกฎหมาย
ผลการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ
ตัวชี้วัด | ปี 2562 | ปี 2563 | ปี 2564 | ปี 2565 | เป้าหมายปี 2565 |
---|---|---|---|---|---|
ปริมาณน้ำที่นำมาใช้หรือการดึงน้ำจากแหล่งขาดแคลน (ล้านลิตร) | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 |
ตัวชี้วัด | ปี 2562 | ปี 2563 | ปี 2564 | ปี 2565 | เป้าหมายปี 2565 |
---|---|---|---|---|---|
ปริมาณน้ำที่นำมาใช้หรือการดึงน้ำทั้งหมด (ล้านลิตร) | 2,033.15 | 1,910.00 | 1,722.86 | 10,621.261 | 11,155.00 |
ตัวชี้วัด | ปี 2562 | ปี 2563 | ปี 2564 | ปี 2565 | เป้าหมายปี 2565 |
---|---|---|---|---|---|
ปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด (ล้านลิตร) | 1,625.34 | 1,528.56 | 1,378.30 | 1,579.30 | 1,660.00 |
หมายเหตุ: 1บริษัทได้ขยายขอบเขตการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดด้านน้ำให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าไชยะบุรี โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และสำนักงานใหญ่ของบริษัทในปี 2565 เป็นปีแรก

โครงการปรับเปลี่ยนค่าควบคุม Chloride ของหอหล่อเย็น เป็นหนึ่งในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและลดการสูญเสีย โดยการนำน้ำก่อนปล่อยออกกลับมาใช้ประโยชน์ การดำเนินงานในปี 2565 ช่วยลดปริมาณน้ำทิ้งจากระบบหอหล่อเย็นและลดปริมาณน้ำที่เติมเข้าสู่ระบบมากกว่า 54,350 ลูกบาศก์เมตร หรือ 54.35 ล้านลิตร รวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 2.7 ล้านบาท/ปี

บริษัทจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการลดการใช้น้ำภายในสำนักงาน เพื่อให้พนักงานทุกคนได้มีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า การดำเนินงานปี 2565 สามารถลดปริมาณการใช้น้ำภายในสำนักงานคิดเป็นปริมาณ 220,000 ลิตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา และสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นมูลค่า 5,598.25 บาท
การจัดการของเสีย
บริษัทตระหนักถึงผลกระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อมที่สามารถเกิดขึ้นจากการจัดการของเสียทั่วไป และของเสียอันตรายที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น บริษัทจึงมุ่งมั่นในการลดการเกิดของเสียตั้งแต่ต้นทาง ผ่านระเบียบปฏิบัติสำหรับการจัดการขยะ และของเสียที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของบริษัททั้งในส่วนสำนักงานและโรงไฟฟ้าทุกแห่ง เพื่อให้มั่นใจว่าปริมาณการใช้ทรัพยากรและของเสียจะลดลงจากนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และจัดการของเสียปลายทางอย่างถูกต้องเหมาะสมตามแนวทางการจัดการของเสียประเภทต่าง ๆ รวมถึงเป็นไปตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีการอบรมให้ความรู้พนักงานในการบริหารจัดการขยะให้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

ผลการดำเนินงานด้านการจัดการของเสีย
ตัวชี้วัด | ปี 2562 | ปี 2563 | ปี 2564 | ปี 2565 | เป้าหมายปี 2565 |
---|---|---|---|---|---|
ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด (เมตริกตัน) | 42.70 | 95.96 | 130.86 | 136.16 | 150 |
ปริมาณขยะทั่วไปที่เกิดขึ้นทั้งหมด (เมตริกตัน) | 14.82 | 87.16 | 114.11 | 120.53 | 130 |
ปริมาณขยะอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งหมด (เมตริกตัน) | 27.88 | 8.80 | 16.75 | 15.62 | 20 |
หมายเหตุ: บริษัทได้ขยายขอบเขตการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดด้านขยะให้ครอบคลุมสำนักงานใหญ่ของบริษัทในปี 2565 เป็นปีแรก



บริษัทร่วมกับภาคเครือข่ายมูลมิธิโกลารส์ ออฟ ซัส ทีแนนซ์ และบริษัทกรีนทูเก็ต จำกัด จัดโครงการ Grow Green Hero เพื่อให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะแก่พนักงานในองค์กร อาทิ ปัญหาขยะ การจัดการขยะอย่างถูกวิธี ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ และแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ เพื่อต่อยอดเป็นโครงการและกิจกรรมที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดขยะที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
โดยในกิจกรรมได้สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเพื่อจัดการขยะอย่างถูกวิธี เรียกว่า “Grow Green Hero” โดยพนักงานแบ่งกลุ่มร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนาโครงการที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการขยะในองค์กรของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม และจัดการประกวดการนำเสนอโครงการ (Ideation Workshop) ซึ่งผู้ชนะการประกวดได้รับงบประมาณไปพัฒนาโครงการที่เป็นรูปธรรมต่อเนื่องในปี 2566
ทั้งนี้ในปี 2565 สามารถสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง “Grow Green Hero” จำนวน 23 คน ที่จะขับเคลื่อนโครงการจัดการขยะภายในหน่วยงานและองค์กรต่อไป
บริษัทจัดทำโครงการถังขยะแยกประเภท เพื่อคัดแยกขยะภายในสำนักงานให้ถูกประเภท รวมถึงสามารถนำขยะแต่ละประเภทเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล/กำจัดอย่างถูกวิธี และนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยดำเนินการจัดทำถังขยะแยกประเภทวางบริเวณจุดต่าง ๆ ภายในสำนักงาน แบ่งประเภทขยะไว้ 6 ประเภท คือ
และทำการบันทึกน้ำหนักขยะแต่ละประเภทเพื่อเป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบการลดปริมาณขยะในอนาคต รวมถึงปลูกฝังให้พนักงานรู้จักการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทั้งนี้ ได้มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของประเภท การคัดแยกขยะที่ถูกต้องให้กับพนักงานและผู้บริหาร โดยการจัดกิจกรรมอบรม เรื่อง "ทิ้งขยะให้ถูกถัง เพิ่มพลังรักษ์โลก" พร้อมทั้งได้มีการเผยแพร่เอกสารอบรมผ่านทาง Mobile Application: CKPower Academyโดยในปี 2565 พนักงานสามารถแยกขยะและนำไปสู่การจัดการกำจัดขยะที่ถูกวิธี รวมถึงสามารถนำขยะไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ต่อไป
บริษัทได้จัดทำโครงการ “Paper-X” เพื่อลดปริมาณขยะ และนำขยะประเภทกระดาษมารีไซเคิลและใช้ใหม่ให้เกิดคุณค่าสูงสุด มีเป้าหมายในการรวบรวมกระดาษที่ไม่ใช้แล้วถึง 1,000 กิโลกรัม โดยให้พนักงานมีส่วนร่วมคัดแยกกระดาษอย่างถูกวิธี ซึ่งโครงการนี้จะแบ่งกระดาษออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) กระดาษขาว
2) กระดาษลัง/กระดาษนํ้าตาล
3) กระดาษอื่น ๆ
เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกระดาษอย่างถูกวิธี และนำไปผลิตเป็นกระดาษใหม่ ก่อนที่จะถูกนำไปแจกจ่ายให้แก่ โรงเรียนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งผลจากโครงการนี้คือ พนักงานตระหนักรู้ถึงวิธีการแยกขยะประเภทกระดาษ สามารถคัดแยกกระดาษที่ไม่ใช้งานแล้วได้ถูกประเภท ลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตกระดาษ และยังสามารถนำกระดาษที่แยกได้มาสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับนักเรียนที่อยู่ในบริเวณรอบโรงไฟฟ้า
ในปี 2565 บริษัทสามารถจัดส่งกระดาษที่ไม่ได้ใช้แล้วเข้ากระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีจำนวน 2.02 ตัน และสามารถนำกลับมาผลิตเป็นกระดาษใหม่ได้จำนวน 30 รีม เพื่อนำส่งมอบให้กับโรงเรียนรอบ ๆ โรงไฟฟ้า ได้แก่ โรงเรียนบางปะอิน โรงเรียนวัดเปรมปรีชา โรงเรียนชุมชนวัดกำแพง โรงเรียนบ้านพลับ โรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง และโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตกระดาษขาว ซึ่งเทียบเท่ากับการลดการใช้กระดาษขาวเป็นมูลค่า 2,700 บาท ลดการตัดต้นไม้ 1.26 ตัน ลดการใช้น้ำ 519.17 ลิตร ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 28.18 ลิตร และลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 296.67 กิโลวัตต์-ชั่วโมง
บริษัทได้จัดทำโครงการคิดก่อน Print เพื่อส่งเสริมให้พนักงานในองค์กรตระหนักถึงความจำเป็นก่อนการใช้ทรัพยากร และเพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการช่วยกันประหยัด การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยลดการพิมพ์เอกสารสีที่ไม่จำเป็น รวมถึงการปรับเปลี่ยนจากการใช้เอกสารซึ่งต้องพิมพ์ออกมาบนกระดาษ (hard copy) เป็นการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-documents) โดยในการดำเนินงานของทุกหน่วยงานต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย กฎระเบียบในการดำเนินงาน อาทิ มาตรฐานบัญชี เป็นต้น ในปี 2565 บริษัทสามารถลดการพิมพ์สีเฉลี่ยต่อคนลดลง ร้อยละ 42.27 เมื่อเทียบในช่วงที่ดำเนินโครงการกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเป้าหมายในการลดการพิมพ์เอกสารสีร้อยละ 35 ต่อคน
โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอ์เรชั่น ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบฉีดน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพและพอเหมาะกับปริมาณความต้องการใช้ จึงทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันหล่อลื่นลดลงและลดปริมาณของเสียอันตรายที่เกิดจากน้ำมันใช้แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2565 โรงไฟฟ้าสามารถลดปริมาณใช้น้ำมันหล่อลื่นและของเสียอันตราย ประมาณ 8,151 ลิตร/ปี ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อน้ำมันหล่อลื่นและค่ากำจัดน้ำมันใช้แล้ว ประมาณ 125,460 บาท/ปี
บริษัทได้จัดทำโครงการ “ขวดแลกสุข” เพื่อสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยการให้ความรู้กับพนักงานเกี่ยวกับขยะพลาสติกแต่ละประเภท และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างพนักงานในการลดขยะพลาสติก โดยการรวบรวมขวดพลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของชุมชนวัดจากแดง นอกจากเป็นการลดของเสีย และยังสามารถเพิ่มมูลค่าขวดพลาสติกเพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน อีกทั้ง บริษัทได้นำผลิตภัณฑ์จากชุมชนวัดจากแดงส่งมอบให้กับเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ คนในชุมชนรอบพื้นโรงไฟฟ้าผ่านกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนและการดำเนินโครงการสร้างคุณค่าสู่สังคม ในปี 2565 บริษัทสามารถเก็บรวบรวมขวดพลาสติกได้ 1,193.2052 กิโลกรัม หรือ 41,0452 ขวด โดยส่วนหนึ่งบริษัทนำไปผลิตเป็นถุงผ้าสำหรับบรรจุสิ่งของยังชีพให้กับผู้ประสบภัยและเด็กนักเรียนจำนวน 500 ชิ้น และสามารถเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนวัดจากแดง ได้ถึง 25,000 บาท
โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี จัดทำโครงการ “ผลิตวัสดุปรับปรุงคุณภาพดินจากของเสียชีวภาพ” เพื่อนำของเสียอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ อาทิ เศษอาหาร เปลือกผลไม้ จากการแยกขยะในโรงครัวและโรงอาหารพนักงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านกระบวนการย่อยสลายทางธรรมชาติจนออกมาเป็นวัสดุปรับปรุงคุณภาพดินใช้ในการเพาะปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณพื้นที่โครงการและที่พักอาศัยของพนักงาน เพื่อลดปริมาณการกำจัดของเสีย และนำของเสียไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการเปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เพื่อกำจัดของเสีย
โดยในปี 2565 บริษัทสามารถผลิตวัสดุปรับปรุงคุณภาพดินได้จำนวน 526 กิโลกรัม สามารถลดปริมาณการกำจัดของเสียทั่วไปที่ 9.20 ตัน นอกจากนี้ พนักงานของโรงไฟฟ้ายังได้รับประโยชน์จากการบริโภคพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ รวมถึงสามารถลดค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดซื้อวัตถุดิบในการปรุงอาหารในโรงไฟฟ้าและในครัวเรือนของพนักงานอีกด้วย
การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในการควบคุมปริมาณการปล่อยมลสารทางอากาศ
การผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 80 ของบริษัทได้มาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและไม่มีการปล่อยมลสารทางอากาศ อย่างไรก็ตาม สำหรับการโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่นเป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อนร่วม (Combined-Cycle Power Plant) ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จากกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องกังหันก๊าซ( Gas turbine) ซึ่งการเผาไหม้จะทำให้เกิด NOx บริษัทจึงเลือก Gas turbine ที่มีเทคโนโลยีการเผาไหม้แบบ Dry Low NOx Burner (DLE) โดยสามารถควบคุมออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ไม่เกิน 25 PPM โดยการควบคุมอุณหภูมิสูงสุดของเปลวไฟ ด้วยวิธีการควบคุมเชื้อเพลิงให้ผสมกับอากาศก่อนที่จะเข้าสู่การเผาไหม้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีของ Gas turbine ยังสามารถประหยัดเชื้อเพลิงเพราะมีประสิทธิภาพสูง
บริษัทได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ (Continuous Emission Monitor System: CEMs) เพื่อเฝ้าระวังและตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บริเวณปล่องระบายอากาศ สามารถแสดงผลการตรวจวัดแบบต่อเนื่อง และสามารถประมวลผลได้อย่างทันที (Real-time) อีกทั้ง บริษัทได้การเปิดเผยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศในการรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างสม่ำเสมอปีละ 2 ครั้ง โดยในปี 2565 บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพอากาศของโรงไฟฟ้าอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดทั้งหมด
ผลการดำเนินงานด้านการควบคุมปริมาณการปล่อยมลสารทางอากาศ
ตัวชี้วัด | ปี 2562 | ปี 2563 | ปี 2564 | ปี 2565 | เป้าหมายปี 2565 |
---|---|---|---|---|---|
ปริมาณการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) (เมตริกตัน) | 600.64 | 597.77 | 598.91 | 636.07 | 750 |
ปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) (เมตริกตัน) | 18.56 | 17.26 | 24.40 | 34.19 | 231 |
ปริมาณการปล่อยฝุ่นละออง (Particulate Matter:PM) (เมตริกตัน) | 25.83 | 21.89 | 33.91 | 28.98 | 88 |
หมายเหตุ: บริษัทมีการปล่อยมลสารทางอากาศ เฉพาะโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น เท่านั้น


