ความท้าทาย

ธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรต่าง ๆ ที่สำคัญ และจำเป็นยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นดัชนีหนึ่งที่สามารถชี้วัดให้เห็นถึงสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ
ซึ่งในปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการพัฒนาของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติ ความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิด หรือการสูญเสียแหล่งที่อยู่ของสัตว์ จากวิสัยทัศน์ที่ต้องการส่งมอบความมั่นคงทางพลังงานสะอาดบนแนวทางแห่งความยั่งยืน บริษัทจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ

ในเดือนธันวาคม 2565 มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP 15) ช่วงที่ 2 ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกับประชาคมโลกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเน้นความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในรูปแบบพหุภาคีและทวิภาคี เพื่อสนับสนุนกลไกทางการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างสมรรถนะ และจะส่งผลให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายใน ปี 2593 (ค.ศ. 2050) และจากการประชุมดังกล่าวมีแนวโน้มที่ทางองค์กรสหประชาชาติจะออกข้อบังคับให้องค์กรเอกชนทั่วโลกจัดทำรายงานการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (Taskforce on Nature-related Financial Disclosure : TNFD) ข้อกำหนดในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งดัชนีชี้วัดความยั่งยืนต่าง ๆ ในระดับสากล โดยการเคลื่อนไหวในส่วนของภาครัฐในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่ที่มีมาตรการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจมีผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจที่จะต้องปรับตัวให้มีการดำเนินการที่สอดรับกับนโยบายการปกป้องและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าว ดังนั้น การเคลื่อนไหวและตื่นตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบริษัท

แนวทางการปฎิบัติงาน
การบริหารจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทในการเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่มีการดำเนินงานอันมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สามารถส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่ได้อย่างยั่งยืน บริษัทได้กำหนดนโยบายการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร โดยมีแนวคิดหลัก คือ การดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายและกฎระเบียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้ในการดำเนินธุรกิจ สื่อสารและสร้างความตระหนักให้กับพนักงานในทุกระดับชั้นตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน ริเริ่มโครงการเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ความหลายหลายทางชีวภาพและการให้บริการของระบบนิเวศผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

เป้าหมาย
เป้าหมายระยะยาว

แนวทางการจัดการ
กำหนดนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางและขอบเขตการดำเนินงาน และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของบริษัทในการให้ความสำคัญ รวมถึงตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานโดยปกป้องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ
ประยุกต์ใช้แนวทางการบรรเทาผลกระทบอย่างมีลำดับชั้น (Mitigation hierarchy) เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและการประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง ตลอดจนการบริหารจัดการในทุกพื้นที่ปฏิบัติการ

การศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งของบริษัทได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องสำหรับโรงไฟฟ้าแต่ประเภท
กำหนดเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะไม่มีการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (No Net Loss: NNL) และบริการจากระบบนิเวศสุทธิเป็นศูนย์ภายใต้ขอบเขตที่สามารถจัดการได้
กำหนดแผนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Roadmap) ประกอบด้วยการ กำหนดขอบเขต การคัดกรองเชิงพื้นที่และชนิดพันธุ์ การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องจากการดำเนินธุรกิจ จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาผลกระทบ รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศและดำเนินการตามแผน โดยมีมาตรการการติดตามผลสำเร็จตามเป้าหมาย และรายงานความก้าวหน้าให้แก่กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร
แต่งตั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และมีความต่อเนื่องตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงระดับปฏิบัติการ
สร้างการมีส่วนร่วม กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและต่อยอดแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานและพัฒนาโครงการเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมด้านการให้บริการจากระบบนิเวศ (Biodiversity and Ecosystem Services) มีความสอดคล้องกับบริบทของระบบนิเวศและสังคมท้องถิ่น

การดำเนินงาน

บริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และมีความมุ่งมั่นในการปกป้องและบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ โดยผนวกประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัท และกำหนดแผนการดำเนินการประเมินผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่คงเหลือจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทุกแห่งที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทและโครงการใหม่ รวมถึงคู่ค้าที่ทำธุรกิจร่วมกับบริษัท เพื่อนำไปสู่แนวทางการจัดการที่เหมาะสมในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศให้มีความสมดุลยิ่งขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตามความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะไม่มีการสูญเสียบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศสุทธิเป็นศูนย์ (Strive toward No Net Loss (NNL) of Biodiversity and Ecosystem Services) ภายในปี 2583 ทั้งนี้บริษัทได้ประกาศความมุ่งมั่นและนโยบายการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงจัดทำแผนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Roadmap) เพื่อแสดงถึงเจตจำนงและเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพที่สอดคล้องกันทั่วทั้งองค์กร

ดังนั้น บริษัทจึงมีการกำหนดเป็นนโยบายอย่างชัดเจน มีแนวทางปฏิบัติ และการดำเนินงาน เพื่อดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในพื้นที่ปฏิบัติงานและรวมทั้งชุมชนโดยรอบ

การประเมินผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

โรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัทได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนด กฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องสำหรับโรงไฟฟ้าแต่ประเภท อาทิ การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งจากการศึกษา พบว่าโรงไฟฟ้ารวมถึงสำนักงานทุกแห่งที่ควบคุมการดำเนินงานโดยบริษัทไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่มรดกโลก และพื้นที่คุ้มครอง โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature: IUCN) ประเภทที่่ 1-4 แต่อย่างใด นอกจากนี้ ในรายงานการประเมินผลกระทบดังกล่าวข้างต้นได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่บริษัทพึงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ทั้งนี้ บริษัทได้จัดให้มีการสำรวจชนิดพันธุ์ปลาก่อนดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท TEAM Consulting ทำให้ทราบถึงชนิดพันธุ์ปลาที่จำแนกตามระดับความเสี่ยงในการสูญพันธุ์และการถูกคุกคามจากมนุษย์หรือภัยธรรมชาติ ของเกณฑ์ The IUCN Red List ซึ่งจากผลการสำรวจ พบว่ามีชนิดพันธุ์ปลาทั้งหมด 120 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับไม่ถูกคุกคาม (Least Concerned: LC)

โดยบริษัทได้วางแผนการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในเชิงพื้นที่ และชนิดพันธุ์เพิ่มเติมในระหว่างปี 2566-2567 เพี่อให้ครอบคลุมทุกโรงไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท

รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

อ่านเพิ่มเติม

แผนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Roadmap)

ในปี 2565 บริษัทได้พัฒนาแผนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ระยะที่ 1 ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 5 ปี (ปี 2565-2569) ภายใต้กลยุทธ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะไม่มีการสูญเสียบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2583

ระบบทางปลาผ่านแบบผสม ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี (Hybrid Fish Passing and Fish Locks System in Xayaburi Hydroelectric Power Plant)

บริษัทได้ใช้ระบบทางปลาผ่านแบบผสมหรือ “Hybrid Fish Passing and Fish Lock System” เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ขนาด 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงระหว่างแขวงไซยะบุรีและหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินงาน 564,000 เฮกตาร์ โดยบริษัทได้มีการศึกษาความเหมาะสมตามชนิดพันธุ์ปลาตั้งแต่กระบวนการออกแบบก่อสร้าง รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ ตาม IUCN Red List ก่อนที่บริษัทจะเริ่มนำระบบทางปลาผ่านแบบผสมมาใช้

ระบบทางปลาผ่านแบบผสมของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีเป็นระบบผสม โดยมีทางปลาผ่าน (Vertical-slot Fishway) เชื่อมต่อกับช่องยกปลา (Fish Locks) ที่มีขนาดใหญ่ โดยมีความกว้างของทางปลาผ่าน 18 เมตร และลึกมากที่สุด 16 เมตร ซึ่งระบบการทำงานและระบบการติดตามของทางปลาผ่านแบบผสมได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับขนาดปลา และสอดคล้องกับพฤติกรรมปลาในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ โดยธรรมชาติของปลาจะว่ายทวนกระแสน้ำไปยังบริเวณเหนือน้ำ เมื่อถึงช่วงเวลาขยายพันธุ์และวางไข่ เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ปลาและรักษาวงจรชีวิตสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง ช่วยให้โรงไฟฟ้าหลังงานน้ำ ไซยะบุรีสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนให้แก่ธรรมชาติในลุ่มแม่น้ำโขงได้

ส่วนในกระบวนการติดตามประสิทธิภาพของระบบทางปลาผ่านแบบผสม บริษัทได้ประยุกต์นวัตกรรม Passive Integrated Transponder: PIT Tag System โดยการฝังไมโครชิพในตัวปลาเพื่อศึกษาพฤติกรรมของปลา และการใช้กล้องตรวจวัดด้วยคลื่นเสียงใต้น้ำ (Hydroacoustic Cameras, ARIS) เพื่อติดตามพฤติกรรมการอพยพและความเคลื่อนไหวของปลาบริเวณโรงไฟฟ้า ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีการใช้งานตั้งแต่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีเริ่มดำเนินการในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2565 พบว่ามีปลาที่สามารถผ่านขึ้นบันไดปลาของโรงไฟฟ้าได้มากกว่า 110 สายพันธุ์ โดยการจัดการทางปลาผ่านมีความสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้าตามเป้าหมายในขณะเดียวกันไม่มีผลกระทบต่อการอพยพของปลา

ในการศึกษาความเหมาะสม การประยุกต์ใช้ระบบทางปลาผ่านแบบผสม ตลอดจนการติดตามประสิทธิภาพของระบบ บริษัทมีพันธมิตรที่ผสานความร่วมมือ ได้แก่

  • ศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลีย (Australian Center for International Agricultural Research: ACIAR)
  • Charles Sturt University ประเทศออสเตรเลีย
  • ศูนย์ค้นคว้าการประมง สถาบันค้นคว้ากสิกรรมและป่าไม้แห่งชาติ สปป.ลาว (Living Aquatic Resources Research of Lao: LARReC)
  • มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (National University of Lao: NUOL)

บริษัทได้ส่งต่อองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ และส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อรักษาวงจรชีวิตของปลาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการอพยพของปลา รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ ลักษณะทางกายภาพและชนิดพันธุ์ของปลาที่แตกต่างกันในแม่น้ำโขง โดยบริษัทได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ของระบบการติดตามปลาโดยการใช้ไมโครชิพ (Passive Integrated Transponder: PIT Tag System) ร่วมกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้าใจในระบบการติดตามพฤติกรรมการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง โดยในปี 2565 บริษัทได้มีการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่คนในชุมชนรอบโรงไฟฟ้า จำนวน 40 ชุมชน