ความท้าทาย

ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งหลายประเทศนำมาเป็นเครื่องมือทางการค้าในการป้องกันหรือลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ดังนั้น บริษัทได้ตระหนักว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนพึงได้รับ
จึงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่เคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ไม่ให้เกิดการละเมิดต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและกลุ่มเปราะบางที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลดความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและลดผลกระทบทางการเงินของบริษัท นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบดังกล่าว ยังถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับการดำเนินงานเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอีกด้วย

แนวทางการปฏิบัติงาน

บริษัทได้กำหนดนโยบายสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงว่าการดำเนินธุรกิจ เป็นไปด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ครอบคลุมธุรกิจของบริษัทและบริษัทในเครือ คู่ค้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจการร่วมค้า ผู้ทรงสิทธิ (Rights Holders) และกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable group)

กรณีหากเกิดการละเมิดหรือผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้ทรงสิทธิและกลุ่มเปราะบาง บริษัทจัดให้มีช่องทางการสื่อสารและการรับข้อร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มซีเค พาวเวอร์ รวมถึงมาตรการบรรเทา แก้ไข และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

การตั้งเป้าหมาย

เป้าหมายในปี 2565
เป้าหมายระยะยาว

บริษัทได้จัดทำกลยุทธ์เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนขององค์กร ในการมุ่งสู่การเป็นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งทางตรงจากการดำเนินงานในกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท และทางอ้อมโดยการสนับสนุนและส่งเสริมคู่ธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจให้ตระหนัก คุ้มครอง และเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจ บริษัทมีการตั้งเป้าหมายเพื่อชี้วัดความสำเร็จทางด้านสิทธิมนุษยชน

การดำเนินงาน

การพัฒนาและดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Roadmap)

บริษัทได้พัฒนาแผนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งมีกรอบระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2569 เพื่อเป็นการกำหนดเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน สามารถประเมินความเสี่ยงและลดโอกาสเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ในอนาคต

การดำเนินการงานปี 2565

  • ดำเนินการเสริมสร้างความตระหนักด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างคุณค่า พัฒนา และต่อยอดโครงการต่าง ๆ โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมที่ยึดหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน ให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่า
    • การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กร คือ กลุ่มพนักงาน โดยจัดการอบรมด้านสิทธิมนุษยชนให้กับพนักงานร้อยละ 100 โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายสิทธิมนุษยชน ให้ความรู้ที่มุ่งเน้นการเคารพสิทธิเป็นหลักพื้นฐาน และยอมรับความแตกต่างในองค์กรเพื่อการดำเนินงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืนภายใต้ความหลากหลาย
    • การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กร
      • กลุ่มคู่ค้า : ยกระดับกระบวนการจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยกระดับคุณภาพชีวิตในสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านแรงงาน สุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดี โดยบริษัทมีการให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าและการตระหนักรู้ และมีการสุ่มตรวจสอบแบบลงพื้นที่จริง ซึ่งพบว่า คู่ค้าไม่มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
      • ชุมชน : สร้างการมีส่วนร่วม และดำเนินโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าและสังคมโดยรวม โดยยึดหลักการเคารพในสิทธิพื้นฐาน และความมั่นคงทางอาชีพ
      • ลูกค้า : ส่งมอบไฟฟ้าให้กับลูกค้าทุกรายได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยดำเนินงานภายใต้ความความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของบริษัทและบริษัทในเครือ
  • เข้าร่วมการประเมินรายงานความคืบหน้าภายใต้ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC)
  • ตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปรับปรุงมาตรการลดผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • ปรับปรุงกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและตอบสนองด้านสิทธิมนุษยชน
กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence)

บริษัทได้ดำเนินกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านของบริษัท (Human Rights Due Diligence) ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลัก

การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านของบริษัทครอบคลุมพื้นที่การดำเนินธุรกิจในบริษัททั้งหมดตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อจัดทำแนวทางการจัดการในพื้นที่ปฏิบัติการที่มีความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบุมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานของบริษัท ตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงการระบุประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง การประเมินผลกระทบในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ (Vulnerable Group) เช่น เด็ก กลุ่มชนพื้นเมือง แรงงานต่างชาติ และการประเมินโอกาสที่อาจเกิดผลกระทบ โดยเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนดำเนินการโดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ โอกาสที่จะเกิดขึ้น และผลกระทบ ครอบคลุมสิทธิมนุษยชน ทั้ง 9 ประเด็น

ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ทรงสิทธิ (Rights holders)
พนักงาน คู่ค้าและผู้รับเหมา ลูกค้า ชุมชน
1. สภาพการทำงานของพนักงานและคู่ค้าของ CKP (Working Conditions)
2. สุขภาพและความปลอดภัย (Health & safety)
3. การเลือกปฏิบัติและการละเมิดต่อพนักงาน และคู่ค้าของ CKP (Discrimination and Harassment)
4. สิทธิในเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม เพื่อปกป้องประโยชน์ของพนักงาน (Freedom of Association and Right to Collective Bargaining)
5. การใช้แรงงานผิดกฎหมาย (Illegal Forms of Labor (including Human Trafficking, Forced Labor, Child Labor))
6. มาตรฐานการครองชีพในชุมชน (Standards of Living)
7. การได้มาซึ่งการเข้าถือสิทธิ์ในการถือครองที่ดินและการบังคับให้ตั้งถิ่นฐานใหม่ (Land Acquisition and Forced Re-settlement)
8. การข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า (Data Privacy)
9. การจัดการด้านความปลอดภัย (Security Management)

บริษัทได้วางแผนดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านทุก ๆ 3 ปี โดยครั้งล่าสุดคือ ในปี 2564 ผลการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน พบว่า ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเมินความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง มี 1 ประเด็น คือ สุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ซึ่งเป็นประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในองค์กร โดยประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ในห่วงโซ่คุณค่าอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง และบริษัทสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้จากแนวทางการดำเนินงานในปัจจุบันของบริษัท

โดยผลการประเมินความเสี่ยงที่เหลืออยู่ (Residual Risks) หลังจากจัดทำแนวทางการป้องกันและแก้ไขด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทสำหรับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานที่อยู่ในระดับสูง บริษัทได้กำหนดมาตรการลดและควบคุมความเสี่ยง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งในด้านโอกาสและความรุนแรง เช่น การเพิ่มกระบวนการด้านอาชีวนามัยและความปลอดภัย และการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่พนักงาน เป็นต้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการติดตามประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทมีประสิทธิภาพในการควบคุมผลกระทบตลอดห่วงโซ่คุณค่า

โดยฝ่ายบุคคลของบริษัทเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบงานทางด้านสิทธิมนุษยชนจะประสานกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย และแจ้งประเด็นด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในระดับสูง รวมถึงมาตรการที่ได้กำหนดขึ้นเพื่อบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานด้านความปลอดภัยจะต้องมีการรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการต่อฝ่ายบุคคลของบริษัทอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการที่กำหนดขึ้นนั้นมีประสิทธิภาพ และไม่เกิดการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน

การประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน

บริษัทกำหนดให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบงานทางด้านสิทธิมนุษยชน และจัดทำการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของสถานปฏิบัติงานที่สำคัญของบริษัท (Significant location of operation) หรือโรงงานไฟฟ้าของบริษัทและบริษัทในเครือที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน บริษัทเริ่มจากการระบุมาตรการควบคุมความเสี่ยงต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มเสี่ยงต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและภายนอกองค์กร และประเด็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น ณ สถานปฏิบัติการ ก่อนการประเมินความเสี่ยงเพื่อค้นหามาตรการป้องกันเพิ่มเติม ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนดำเนินประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุก 3 ปี โดยจะทบทวนประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับดำเนินธุรกิจตลอดห่วงคุณค่าเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแผนงานและมาตรการบรรเทา แก้ไข และเยียวยามีประสิทธิภาพและมีความเป็นปัจจุบัน

ผลการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงาน ปี 2565
โครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน

การปฐมนิเทศพนักงานใหม่

ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา บริษัทได้เพิ่มเนื้อหาด้านสิทธิมนุษยชนและนโยบายสิทธิมนุษยชนในการปฐมนิเทศ พนักงานใหม่ เพื่อให้พนักงานเกิดความตระหนักรู้ ตั้งแต่ก้าวเข้ามาทำงานที่บริษัทในวันแรก ว่า CKPower ให้ความสำคัญเรื่องการเคารพ สิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลเป็นอย่างมาก การปฐมนิเทศเรื่องสิทธิมนุษยชนจัดทำผ่านระบบ VDO Conference และดำเนินโครงการเพื่อให้พนักงานในทุกพื้นที่การทำงานสามารถเข้ารับการปฐมนิเทศผ่าน Mobile Application

การปฏิบัติด้านแรงงาน

บุคลากรเป็นแรงขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่สำคัญ ส่งผลให้องค์กรสามารถดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด บริษัทจึงมุ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ผ่านแนวทางการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลขององค์กร ที่มีความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน เชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด ศาสนา ความเชื่อ เพศ สีผิว ภาษา เผ่าพันธุ์ สถานะทางสังคม หรือสถานะอื่นใดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตลอดจนการไม่ใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็กทั้งการจ้างงานโดยตรงหรือภายในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท พร้อมกันนี้ บริษัทกำหนดให้มีนโยบายการพิจารณาค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเหมาะสม โดยพิจารณาจากความสามารถและผลการปฏิบัติงานของพนักงาน รวมถึง มีการจัดสรรสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่พนักงานที่เท่าเทียมและมีศักยภาพเมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน

การอบรมสื่อสารหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน

เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน บริษัทจึงจัดให้มีการสื่อสารผ่านหลากหลายช่องทาง ได้แก่ การประชุมทางไกลผ่านระบบ Microsoft Team และ Mobile Application และจัดอบรม ที่ครอบคลุมพนักงานทั้งหมดในทุกระดับชั้น

การดำเนินการตรวจประเมิน สร้างความเข้าใจ และการตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่คู่ค้า

บริษัทได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่คู่ค้า เพื่อเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะป้องกันไม่ให้มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยบริษัทได้ดำเนินการผนวกประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนไว้ในการตรวจประเมินความเสี่ยงคู่ค้า และมีการสุ่มตรวจสอบคู่ค้า Onsite Audit เป็นประจำทุกปี

การสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่ชุมชน

บริษัทได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถแสดงคิดเห็นอย่างเท่าเทียมในการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนร่วมกับบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงและผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชุมชนเป็นประจำทุกปี

โครงการเพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างเท่าเทียม

บริษัทดำเนินการออกแบบและจัดสร้างอาคารเรียน โรงเรียนอนุบาลหินหัวเสือ แขวงไซสมบูน สปป.ลาว จากหลักการออกแบบอย่างเท่าเทียม (Universal Design) เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียน การศึกษา เพิ่มพื้นที่ทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย รองรับทั้งเด็กนักเรียนชายและหญิง รวมถึงผู้พิการ เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาของ สปป.ลาว นอกจากนี้ยังจัดทำระบบน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค ด้วยการติดตั้งระบบปั๊มน้ำบาดาลจากพลังงานแสงอาทิตย์ และติดตั้งเครื่องกรองน้ำดื่ม ทำให้คุณภาพน้ำสำหรับบริโภคเป็นไปตามมาตรฐานน้ำดื่ม สปป.ลาว และองค์การอนามัยโลก

ดูเนื้อหาเพิ่มเติม:

การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านของบริษัท

ดูเนื้อหาเพิ่มเติม

นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

ดูเนื้อหาเพิ่มเติม

ช่องทางการร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชน

ดูเนื้อหาเพิ่มเติม

แนวปฏิบัติในการบริหารจัดการข้อร้องเรียนและการเยียวยา

ดูเนื้อหาเพิ่มเติม