ความท้าทาย

ชุมชนและสังคมถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลักที่บริษัทให้ความสำคัญ และมีพันธกิจในการมุ่งสร้างไปความสัมพันธ์อันดี และคุณค่าร่วมกัน ด้วยบริษัทมีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนจะต้องดำเนินการควบคู่กับการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคม โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับชุมชนและสังคม (Social License to Operate) นอกจากนี้ โครงการ/กิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชนยังส่งผลทางอ้อมต่อบริษัทและบริษัทในเครือ ในการสร้างความตระหนักรู้ขององค์กร (Brand Awareness) ต่อผู้คนในวงกว้างซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการช่วยเสริมสร้างความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานอีกทางหนึ่ง

แนวทางการปฏิบัติงาน

บริษัทได้กำหนดนโยบายการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน และแนวปฏิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติการดำเนินธุรกิจของบริษัทควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมกับชุมชนและกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีคณะทำงานด้านความยั่งยืน ที่รับผิดชอบให้มีการนำนโยบายและแนวปฏิบัติไปกำหนดตัวชี้วัด แนวปฏิบัติ แผนงานที่สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goal: UN SDGs) อย่างเป็นรูปธรรม มีการติดตาม ประเมิน และทบทวนผลการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

การโยกย้ายถิ่นฐานของประชาชน

บริษัทมุ่งรับผิดชอบต่อชุมชมและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปี 2565 บริษัทได้ดำเนินการสนับสนุนและช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 663 ครัวเรือน ซึ่งเดิมอาศัยอยู่ริมสองฝั่งของแม่น้ำโขง โดยได้โยกย้ายถิ่นฐานของประชาชน (Resettlement & Relocation) พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตตามแผนการโยกย้ายและฟื้นฟูความเป็นอยู่ให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งสนับสนุนและพัฒนาหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่กระจายตัวและตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้กลายมาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า น้ำประปา และเส้นทางคมนาคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรม และส่งเสริมเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง นำไปสู่การมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยต่อเนื่องถึงปี 2565 บริษัทได้มุ่งไปสู่เป้าหมายให้ทุกชุมชนมีรายได้ครัวเรือนต่อปีตามข้อกำหนดของรัฐบาล สปป.ลาว คือ ต้องไม่น้อยกว่า 1,800 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ 15 ล้านกีบต่อครัวเรือนต่อปี

การประเมินผลกระทบและการมีส่วนร่วมกับชุมชน

บริษัทให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส ครอบคลุมชุมชนในพื้นที่การดำเนินงาน 100 % ตั้งแต่ก่อนเข้าดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า และในช่วงดำเนินการผลิตไฟฟ้า โดยบริษัทได้มีการลงพื้นที่เพื่อดำเนินการศึกษาสภาพความเป็นอยู่ตามวิถีดั้งเดิม และคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าทั้งในมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการสำรวจความคิดเห็นของชุมชนทั้งปัญหา/ความต้องการ/ศักยภาพของชุมชน ความพึงพอใจ และการร่วมระบุประเด็นผลกระทบร่วมกับชุมชน โดยผลการสำรวจจะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อค้นหามาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ และหาแนวทางการแก้ไขและเยียวยาได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งในการริเริ่มกิจกรรม/โครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ ความคาดหวังของชุมชนที่จะสามารถดำเนินการบูรณาการให้สอดคล้องกับขีดความสามารถด้านวิศวกรรมพลังงานสู่การสร้างคุณค่าทางสังคม ซึ่งหากผลการสำรวจความคิดเห็นชุมชนไม่พบปัญหาจากการดำเนินงานของบริษัทต่อชุมชนใกล้เคียง บริษัทได้จัดให้มีกระบวนการดูแลชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง บริษัทจะมีการลงพื้นที่สานเสวนาชุมชนเพื่อติดตามตรวจสอบสภาพชุมชนและสังคมที่อาจได้รับผลกระทบทางลบจากการดำเนินงานของบริษัท รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นของชุมชนทั้งปัญหา ความต้องการ ความพึงพอใจ และการร่วมระบุประเด็นผลกระทบร่วมกับชุมชน สอดคล้องตามมาตรฐาน ISO 26000 และ มาตรฐาน CSR – DIW และการจัดทำกระบวนการรับฟังข้อร้องเรียนจากชุมชนซึ่งจะถูกตรวจสอบ บันทึก และได้รับการตอบสนองอย่างทันท่วงทีสอดคล้องตามมาตรฐาน ISO14001

หมายเหตุ: * แสดงถึงผลกระทบต่อชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลเพิ่มเติม : รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

กลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในการดูแลชุมชนและสังคม

บริษัทมุ่งเน้นการนำขีดความสามารถของธุรกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างบริษัท พนักงาน และชุมชน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ในปี 2565 บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในการดูแลสังคมและชุมชน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน และใช้ขีดความสามารถด้านวิศวกรรมพลังงานสะอาดมาเติมเต็มชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) และสร้างประโยชน์ที่สามารถวัดผลได้ ซึ่งกลยุทธ์ด้านการดูแลสังคมและชุมชนยังได้ครอบคลุมถึงการพัฒนานวัตกรรมที่จะสามารถสร้างคุณค่าให้กับชุมชนได้ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และได้มีการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนด้านการดูแลสังคมและชุมชนระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2565 – 2569 โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในการดูแลสังคมและชุมชนคือการจัดทำแกนหลักการดูแลชุมชนและสังคม 3 ประการ ได้แก่

  1. คุณภาพชีวิต: เพิ่มการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
  2. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: การอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
  3. ความมั่นคงทางอาชีพ: ต่อยอดนวัตกรรม สร้างโอกาสพัฒนาอาชีพชุมชน
กรอบการดำเนินงานสร้างคุณค่าสู่สังคมกลุ่ม CKPower

บริษัทดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยตระหนักถึงความสอดคล้องกับวิถีชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ “เติม-ต่อ-ร่วม-สร้าง” กล่าวคือ “เติม” หมายถึงการที่ CKPower ได้ใช้ขีดความสามารถมาเติมเต็มชุมชน สังคม และผู้มีส่วนได้เสีย “ต่อ” คือ การนำแนวคิดนวัตกรรมกระบวนการมาพัฒนาต่อยอดสู่ความยั่งยืน และ “ร่วม” คือ การมีส่วนร่วมของพนักงานกับผู้มีส่วนได้เสีย นำมาสู่การ “สร้าง” คือ สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยบริษัทมีการตั้งเป้าหมายเพื่อชี้วัดความสำเร็จทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในการดูแลชุมชนและสังคมทั้งระยะสั้นและระยะยาว

การดำเนินการด้านชุมชนและสังคม

โครงการ/กิจกรรมเพื่อสังคม

การดำเนินงานด้านการดูแลสังคมและชุมชนในปี 2565

ประเภทของการสนับสนุน (Type of contribution) จำนวนเงินสนับสนุน ปี 2565
จำนวนเงินที่สนับสนุนโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Cash Contribution) 15.67 ล้านบาท
พนักงานร่วมกิจกรรมจิตอาสาเพื่อชุมชน (Employee volunteering during paid working hours) 5,800 ชั่วโมง
บริจาคสิ่งของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (In-kind giving: product or services donations, projects/partnerships or similar) 9.79 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ (Management overheads) 1.59 ล้านบาท

โครงการหิ่งห้อย

ด้วยความมุ่งมั่นที่ใช้ทุกขีดความสามารถที่มีของบุคลากรทุกคน ทั้งองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมการผลิตไฟ้ฟ้าพลังงานสะอาดมาช่วยสร้างคุณค่าสู่ชุมชนและสังคม ภายใต้โครงการหิ่งห้อย ซึ่งบริษัทเริ่มดำเนินโครงการหิ่งห้อยตั้งแต่ปี 2559 มีจุดเริ่มต้นในการลงสำรวจลักษณะพื้นที่ สำรวจความคิดเห็น ข้อกังวล และความต้องการ ศักยภาพของชุมชนก่อนการดำเนินโครงการหิ่งห้อยสู่การร่วมคิด ร่วมดำเนินการระหว่างบริษัทกับชุมชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวทางการดำเนินโครงการที่เกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงที่มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมการผลิตไฟ้ฟ้าของพนักงานมาช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า เช่น ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดการสร้างอาคารเรียน ห้องสมุด โรงอาหาร และการให้ความรู้พร้อมคู่มือการประหยัดพลังงานไฟฟ้า และการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสม ดำเนินการทั้งในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และ พื้นที่ห่างไกล ในประเทศไทย และ สปป. ลาว ซึ่งโครงการหิ่งห้อยสามารถแก้ไขปัญหาความขาดแคลนด้วยนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรม ที่แสดงถึงขีดความสามารถด้านการประกอบธุรกิจพลังงานของบริษัท อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมให้กับพนักงานในองค์กร

ปี 2565 หิ่งห้อยปีที่ 7

ปี 2565 นับเป็นการเดินทางของโครงการหิ่งห้อยปีที่ 7 โดยบริษัทได้ดำเนินโครงการที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไลออนส์มหาจักร 9 และชุมชนบ้านป่าข้าวหลาม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เริ่มจากการลงพื้นที่สำรวจลักษณะพื้นที่ สำรวจความคิดเห็น ข้อกังวล และความต้องการของชุมชนก่อนการดำเนินโครงการ จนนำไปสู่การร่วมคิดและร่วมลงมือทำระหว่าง บริษัท พนักงาน ชุมชน โรงเรียน และภาคีเครือข่าย ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาความขาดแคลนไฟฟ้าส่องสว่างถนนภายในหมู่บ้านป่าข้าวหลามที่ใช้สำหรับเดินทางสัญจรยามค่ำคืน ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันตราย โดยมีผลการดำเนินโครงการ ดังนี้

สร้าง

แสงสว่างบนสะพานข้ามน้ำแม่แตงบ้านป่าข้าวหลาม ด้วยไฟฟ้าพลังงานสะอาด 1 หมู่บ้าน และ 1 โรงเรียน จำนวน 6 จุด ระยะทาง 90 เมตร จำนวน 900 วัตต์ เทียบเท่าการลดก๊าซเรือนกระจกจากการติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ 1,971 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
สอน

คุณครูและนักเรียน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไลออนส์มหาจักร 9 ให้ รู้จักการประหยัดพลังงาน อันเป็นหัวใจสำคัญในการลดใช้ไฟฟ้าและการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสม
ให้ความรู้

เรื่องพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมเข้าสู่การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
เปลี่ยน

พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของโรงเรียน เริ่มศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของโรงเรียนเพื่อนำมาวิเคราะห์ และปรับพฤติกรรมการใช้ไฟที่เหมาะสมกับระบบระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และเตรียมความพร้อมในการวางแผนการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ในการจัดทำโครงการมีการติดตามประสิทธิผลของการดำเนินโครงการร่วมกับโรงเรียนและชุมชน ดูแลและรายงานผลการติดตั้งการใช้งานของเสาไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นระยะเวลา 1 ปี รวมทั้งวางแผนให้ความรู้ชุมชนในการดูแลรักษาร่วมกับโรงเรียนเพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงตามที่บริษัทได้กำหนดไว้

ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี ระหว่างปี 2559 - 2565 โครงการหิ่งห้อยสามารถแก้ไขปัญหาความขาดแคลนของชุมชนและสังคมด้วยนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมที่แสดงถึงขีดความสามารถด้านการประกอบธุรกิจพลังงานสะอาดของบริษัทตามวิถีชุมชนถึง 41 สิ่งปลูกสร้างสาธารณประโยชน์และสาธารณสมบัติ มีเด็กและเยาวชนเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวันสะสมถึง 1,753 คน อีกทั้งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน พนักงาน ที่มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมสะสมถึง 885 คน ชุมชนมีส่วนร่วม 9 ชุมชน เครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทถึง 20 หน่วยงาน และขยายผลต่อยอดสู่การลงมือทำจากรุ่นสู่รุ่น เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนให้กับชุมชนและสังคมถึง 8 แหล่งเรียนรู้ เช่น กังหันน้ำผลิตไฟฟ้า อาคารเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ บ่อเก็บน้ำระบบสูบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบไฟส่องสว่างถนน พลังงานแสงอาทิตย์ อีกทั้งบริษัทได้รับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวิศวกรรมและการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม 928 คน บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมจากภายนอกถึง 4 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการหิ่งห้อยที่ต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบันและในอนาคต บริษัทสามารถสร้างแรงจูงใจให้เด็กรุ่นใหม่ในการสานต่อในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันพัฒนาให้เกิดคุณค่า พลังงานสะอาดเพื่อชุมชนและสังคม และเพื่ออนาคตของเด็กและเยาวชนจากรุ่นสู่รุ่น