ความท้าทาย

ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงสูงขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในเชิงความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk) และความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) หรือความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแง่นโยบาย กฎเกณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค
ทำให้การดำเนินธุรกิจจะต้องปรับตัวให้ทันต่อความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างทันท่วงที อีกทั้งหน่วยงานในระดับสากลและระดับภูมิภาค อาทิ World Bank และ Asian Development Bank (ADB) ต่างเห็นความสำคัญของภาคพลังงานในการลดผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลักดันให้ประชาคมโลกบรรลุตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

โดยการส่งเสริมแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ซึ่งทำให้ต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของกิจการ หรือ Weighted Average Cost of Capital (WACC) ของผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนลดลงมาอยู่ระดับต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะเดียวกันภาครัฐของไทยได้กำหนดมาตรการในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และนโยบายเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition: JET) ทำให้เกิดแรงจูงใจต่อนักลงทุนในการให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายรวมถึงกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลาดทุนให้การตอบรับที่ดี สะท้อนจากการเติบโตของราคาหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ กลไกทางการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมรูปแบบใหม่ อาทิ ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) และ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ยังเป็นอีกเครื่องมือที่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ ขายคาร์บอนเครดิตจากการขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานกลาง หรือ หน่วยงานเจ้าของกลไก (Scheme owner) ดังนั้น กลไกที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ข้างต้น ล้วนเป็นโอกาสที่ดีของบริษัท ที่ได้รับจากการดำเนินธุรกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

แนวทางการปฏิบัติงาน

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของประชาคมโลกที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงเป้าหมายของประเทศตามแผนการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution: NDC) ดังนั้น เพื่อการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว บริษัทจึงจัดทำกลยุทธ์การบริหารจัดการพลังงานและกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ครอบคลุมการทำงานทั่วทั้งองค์กร สอดคล้องตามมาตรฐานสากล และแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-Related Financial Disclosures: TCFD) เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero GHG Emissions by 2050) ตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือ Science Based Target ซึ่งเป็นแนวทางสากลสำหรับภาคเอกชน โดยได้กำหนดเส้นทางแห่งความสำเร็จในการมุ่งสู่เป้าหมาย ดังนี้

การกำกับดูแลด้านจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทได้จัดทำนโยบายอนุรักษ์พลังงาน นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดเป้าหมายด้านการลดการใช้พลังงานขององค์กรที่ครอบคลุมทั้งอาคารสำนักงานและกระบวนการผลิต นอกจากนี้ บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนักด้านการอนุรักษ์พลังงานให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในบริษัทซึ่งเป็นการผลักดันให้พนักงานคิดค้นนวัตกรรมด้านการลดการใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมกับการเพิ่มสัดส่วนในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน อีกทั้ง เพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหน่วยกำกับดูแลด้านจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยคณะกรรมการบรรษัทภิบาล บริหารความเสี่ยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนความยั่งยืน (Sustainable Development Steering Committee) ที่กำหนดทิศทางและเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ตามนโยบายและกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องตามมาตรฐาน และแนวโน้มต่าง ๆ ในระดับสากล มีการดำเนินงานและติดตามร่วมกับคณะทำงานจากทุกโรงไฟฟ้า โดยบริษัทได้กำหนดบทบาท หน้าที่ และตัวชี้วัดผลตอบแทนให้ผู้บริหารของแต่ละพื้นที่ปฏิบัติการโรงไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท และผสานงานร่วมกับคณะทำงานสนับสนุนการเปิดเผยด้านความยั่งยืนขององค์กร (Sustainability Supporting and Disclosure Working Team) มีรายงานผลต่อกรรมการบริษัททุกไตรมาส รวมทั้ง มีแผนในการขยายขอบเขตการจัดการและการเปิดเผยข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-Related Financial Disclosures: TCFD)

โครงสร้างการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทได้จัดทำการประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกปี โดยบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประเมินให้ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจทั้งประเทศไทย และ สปป.ลาว จำแนกตามกรอบเวลาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยหลังจากที่บริษัทได้ระบุและจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงและโอกาสเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว จึงนำไปรวมในขั้นการบริหารความเสี่ยงขององค์กร และดำเนินการจัดทำแผนบรรเทาผลกระทบขึ้นเพื่อรับมือทั้งความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk) และความเสี่ยงในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) ขึ้นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้น โดยบริษัทได้แสดงความโปร่งใสในการประเมินความเสี่ยงและการกำหนดแนวทางการจัดการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD)

Task Force on Climate-related Financial Disclosure : TCFD

Click

กลยุทธ์ด้านจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทได้จัดทำกลยุทธ์ด้านจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านกระบวนการประเมินตามมาตรฐานสากล และแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-Related Financial Disclosures: TCFD) นำมาซึ่งผลการประเมินความเสี่ยงและโอกาสในการกำกับดูแลวางกลยุทธ์ และจัดทำแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการรับมือต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Energy management and Climate Change Roadmap) อย่างต่อเนื่อง

โดยบริษัทได้กำหนดแผนกลยุทธ์การดำเนินงานตามกรอบระยะเวลา 5 ปี (2565-2569) โดยมีการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

เป้าหมายด้านจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การดำเนินงาน

บริษัทและบริษัทในเครือมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่หลากหลาย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเสถียรภาพการผลิตที่มั่นคง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยี การมุ่งเน้นลงทุนในโครงการพลังงานไฟฟ้าสะอาดที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนหรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ซึ่งเป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเข้าถึงพลังงานสะอาดขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goal 7 Affordable and Clean Energy)

โดยบริษัทได้กำหนดแผนกลยุทธ์การดำเนินงานตามกรอบระยะเวลา 5 ปี (2565-2569) โดยมีการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

หมายเหตุ: การลงทุนคำนวณตามกำลังการผลิตติดตั้ง

พลังงานน้ำ 1,900 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 88)
พลังงานแสงอาทิตย์ 29 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 1)
พลังงานความร้อน 238 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 11)

ในปี 2565 ผลการดำเนินงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้

ในปี 2565 บริษัทมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 717,775.96 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 ที่ 715,530.79 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 2 ที่ 2,245.17 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งได้ประเมินอ้างอิงตาม The Greenhouse Gas Protocol และตามข้อกำหนดในการคำนวณและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) อีกทั้ง มีการทวนสอบโดยหน่วยงานอิสระภายนอกโดย บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด สามารถดูรายงานการทวนสอบได้ที่รายงาน Assurance Statement

  • ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond)

    ในปี 2565 บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มูลค่า 8,349 ล้านบาท ภายใต้กรอบตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond Framework) ที่ได้ผ่านการสอบทานโดย Det Norske Veritas: DNV ในฐานะผู้สอบทานอิสระ (Independent External Reviewer) ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำของโลก ที่ให้การรับรองตามมาตรฐาน Green Bond Principles 2021 และ ASEAN Green Bond Standards 2018

    โดยการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้ยังได้รับรางวัล Best Green Bond Hydropower Plant Framework จาก International Finance Award ซึ่งจัดโดย International Finance Magazine นิตยสารทางธุรกิจและการเงินชั้นนำจากลอนดอน สหราชอาณาจักร ที่แสดงถึงการจำหน่ายหุ้นกู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของบริษัทฯ ที่เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล และ รางวัล Most Sustainable Hydro Power Company จาก The Global Economics Awards ในกลุ่ม The Utility & Energy Award Winners โดย The Global Economics เป็นนิตยสารการเงินชั้นนำของสหราชอาณาจักร ซึ่งสะท้อนถึงการดำเนินงานอย่างยั่งยืนในมิติโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ

  • กลไกราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing: ICP)

    บริษัทได้ศึกษาการประยุกต์ใช้กลไกการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing: ICP) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับกฎระเบียบของภาครัฐ และวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนส่วนเพิ่มของการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อกำหนดแผนและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

โครงการที่ดำเนินการเพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2565

บริษัทมีการจัดทำโครงการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึง 11 โครงการ ซึ่งเกิดจากการสังเกตและคิดค้นแนวทางใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหา และสามารถสร้างคุณประโยชน์ได้ โดยมุ่งเน้นการลดการสูญเสียพลังงานโดยรวมของโรงไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกให้กับพนักงานด้านการลดการใช้พลังงานและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทั้งในกระบวนการผลิตและตามมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001: 2018 ด้วยการปรับปรุงระบบการทำงานโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในบริษัททั้งทรัพยากรบุคคล รวมถึง อุปกรณ์ต่าง ๆ จึงทำให้โครงการอนุรักษ์พลังงานของบริษัทไม่ก่อให้เกิดการใช้งบประมาณเพิ่มเติมแต่อย่างใด

โครงการอนุรักษ์พลังงานในปี 2565
1. โครงการเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้ากังหันน้ำ
2. โครงการหยุดการใช้งาน Air Dryer 1 ชุด
3. โครงการหยุดพัดลมระบายความร้อนหอหล่อเย็น
4. โครงการ Cooling Tower Optimization
5. โครงการ Lower Gas Pressure Better Heat Rate
6. โครงการปรับปรุงระบบทำความสะอาดระบบอัดอากาศของกังหันก๊าซแบบออนไลน์
7. โครงการลดการใช้พลังงานในเครื่องอัดก๊าซธรรมชาติ
8. โครงการประหยัดพลังงานภายในสำนักงาน
9. โครงการปรับปรุงระบบแสงสว่าง Dam Crest and Outdoor Lighting
10. โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพ (เปลี่ยนหลอดไฟฟ้า LED)
11. โครงการใช้รถยนต์ PHEV ทดแทน Internal Combustion Engine

โครงการปรับปรุงระบบทำความสะอาดระบบอัดอากาศของกังหันก๊าซแบบออนไลน์

โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ได้ปรับปรุงระบบทำความสะอาดระบบอัดอากาศของกังหันก๊าซแบบออนไลน์ เพื่อช่วยลดความถี่ในการทำความสะอาดระบบอัดอากาศแบบออนไลน์และลดอริมาณการใช้ทรัพยากรน้ำและไฟฟ้า โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพของระบบอัดอากาศ

โครงการลดการใช้พลังงานในเครื่องอัดก๊าซธรรมชาติ

โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น พัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการปรับการตั้งค่าหมุนเวียนให้เหมาะกับสภาพของโรงไฟฟ้า เพื่อลดการใช้พลังงานของ Gas Compressor

โครงการ Electrical Saving Project

การรณรงค์ให้พนักงานร่วมกันประหยัดพลังงานในองค์กร ด้วยวิธีการ ปิด - ปรับ - เปลี่ยน - ปลด พร้อมสร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและรู้คุณค่าของพนักงานทั่วทั้งองค์กร