การจัดการสิ่งแวดล้อม
ความท้าทาย
การดำเนินงาน
บริษัทตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจการผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และชุมชนโดยบริษัทมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะน้อยและใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ยิ่งไปกว่านั้นทางบริษัทยังให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างธุรกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัท

01 มุ่งเน้นการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด
และพลังงานหมุนเวียน

02 บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

03 พัฒนาองค์กรความรู้นวัตกรรม และเทคโนโลยี
เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดและมุ่งมั่นสู่มาตรฐานสากล

04 สร้างองค์ความรู้ในการบรอหารจัดการทรัพยากร
อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อทำให้เกิดการ
พัฒนาและการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนในชุมชน
บริษัทได้จัดทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัดภายในโรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัท ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนรอบโรงไฟฟ้าไปพร้อม ๆ กัน และโรงไฟฟ้าได้ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันในการดำเนินการบนหลักการการพัฒนาเทคโนโลยี และการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และชุมชน
การดำเนินงานจนถึงปี 2564 บริษัทและบริษัทในเครือไม่ได้รับข้อร้องเรียนใด ๆ จากชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า หรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งไม่มีการละเมิดกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด โดยบริษัทยังมีความมุ่งมั่นที่จะคงมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนร่วมกับชุมชน อย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่อง
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
แนวปฏิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
(GRI 307-1)
รายละเอียด | ปี 2560 | ปี 2561 | ปี 2562 | ปี 2563 | ปี 2564 |
---|---|---|---|---|---|
จำนวนข้อร้องเรียน (ครั้ง) | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 |
จำนวนข้อร้องเรียนที่ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว (ครั้ง) | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 |
จำนวนการละเมิดกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (ครั้ง) | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 |
จำนวนเงินค่าปรับเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (บาท) | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 |
ภาพรวมผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
ปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด
ตัวชี้วัด | หน่วย | 2561 | 2562 | 2563 | 2564 | เป้าหมายปี 2565 |
---|---|---|---|---|---|---|
ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ | ล้านลิตร | 1,839 | 2,033 | 1,910 | 1,723 | 1,800 |
หมายเหตุ
- การเป้าหมายลดลงจากปีฐาน 2561
- การเก็บข้อมูลเรื่องน้ำ เป็นข้อมูลจากโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย
การกำจัดขยะของเสียทั่วไป
ปริมาณขยะทั่วไปที่ส่งกำจัด | หน่วย | 2561 | 2562 | 2563 | 2564 | เป้าหมายปี 2565 |
---|---|---|---|---|---|---|
ภายในองค์กร | เมตริกตัน | 0.00 | 0.00 | 46.34 | 65.75 | 62 |
ภายนอกองค์กร | เมตริกตัน | 9.92 | 14.82 | 25.42 | 19.17 | 18 |
หมายเหตุ: ข้อมูลผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมตามรายงานความยั่งยืน ปี 2564
การกำจัดขยะของเสียอันตราย
ปริมาณขยะอันตรายที่ส่งกำจัด | หน่วย | 2561 | 2562 | 2563 | 2564 | เป้าหมายปี 2565 |
---|---|---|---|---|---|---|
ภายในองค์กร | เมตริกตัน | 0.05 | 1.47 | 2.46 | 9.19 | 9 |
ภายนอกองค์กร | เมตริกตัน | 0.00 | 0.00 | 1.50 | 2.53 | 2 |
หมายเหตุ: ข้อมูลผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมตามรายงานความยั่งยืน ปี 2564
ปริมาณการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (กิโลกรัม)
2561 | 2562 | 2563 | 2564 | เป้าหมายปี 2565 | |
---|---|---|---|---|---|
ปริมาณการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ | 440,614.00 | 600,637.09 | 597,770.75 | 598,910.61 | 630,250 |
ปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (กิโลกรัม)
2561 | 2562 | 2563 | 2564 | เป้าหมายปี 2565 | |
---|---|---|---|---|---|
ปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ | 12,415.79 | 18,555.05 | 17,258.39 | 24,398.44 | 21,140 |
ปริมาณการปล่อยฝุ่นละออง (กิโลกรัม)
2561 | 2562 | 2563 | 2564 | เป้าหมายปี 2565 | |
---|---|---|---|---|---|
ปริมาณการปล่อยฝุ่นละออง | 14,867.35 | 25,834.65 | 21,890.13 | 33,911.76 | 37,579 |
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ทรัพยากรน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท เนื่องจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 80 ของบริษัทมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จึงมีการพัฒนานวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และลดการสูญเสียน้ำซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ
นอกจากนี้ กระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ยังมีความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่สูงมาก ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น (BIC) ได้มีการลดการใช้น้ำในระบบการผลิตโดยการจัดทำการผลิตที่สามารถใช้น้ำแบบหมุนเวียนในระบบปิด
บริษัทได้จัดให้มีกระบวนการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งเก็บน้ำต้นทาง ส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำร่วมกับชุมชนและหน่วยงานของ สปป.ลาว เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดแคลนน้ำ และรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรน้ำให้มีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โครงการลดปริมาณน้ำทิ้งด้วยการควบคุมความเข้มข้นคลอไรด์ (Adjust Control Range Chloride of Cooling BIC1)
ในปี 2564 โรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมมีการใช้น้ำประมาณ 1,800 ล้านลิตร ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ บริษัทจึงมีการจัดการบริหาร น้ำภายในองค์กร โดยทำการเก็บข้อมูลการใช้น้ำและจัดทำโครงการและกิจกรรม เพื่อลดการใช้น้ำและช่วยให้สามารถวางแผนปริมาณการใช้น้ำได้ในอนาคต อาทิ โครงการปรับเปลี่ยนค่าควบคุม Chloride ของหอหล่อเย็น (Adjust Control Range Chloride of Cooling water) เป็นหนึ่งในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและลดการสูญเสีย โดยการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ การดำเนินงานจากโครงการดังกล่าวในปี 2564 ช่วยลดปริมาณน้ำทิ้งจากระบบหอหล่อเย็นและลดปริมาณน้ำที่เติมเข้าสู่ระบบมากกว่า 58,500 ลูกบาศก์เมตร หรือ 58.5 ล้านลิตร รวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 2.7 ล้านบาท/ปี ทำให้แนวโน้มการใช้น้ำทั้งหมดในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ ปี 2562 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ของปี 2564 ที่ต้องการลดปริมาณน้ำทิ้ง 30,000 ลูกบาศก์เมตร และเป็นเป้าหมายต่อเนื่องไปถึงปี 2565 อีกด้วย
การจัดการของเสีย
ด้วยตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาจากการจัดการของเสียในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งผลกระทบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม บริษัท จึงมุ่งมั่นในการบริหารจัดการของเสียโดยการลดการเกิดของเสียตั้งแต่ต้นทาง โดยได้จัดทำระเบียบปฏิบัติสำหรับการจัดการขยะและของเสียขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมการก่อให้เกิดของเสีย และจัดการของเสียที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมการผลิต หรือบริการของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าของเสียทุกประเภทที่เกิดขึ้นมีวิธีการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง

โครงการอบรมและให้ความรู้การจัดการขยะ
บริษัทได้จัดให้มีการฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ อาทิ การอบรมให้ความรู้แก่พนักงานผู้อยู่อาศัยโดยรอบโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ตลอดจนดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องในการทิ้งขยะภายหลังการอบรม และการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะด้วย โดยภายหลังการฝึกอบรมพบว่า พนักงานที่อยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการคัดแยกขยะจากต้นทาง ก่อนทางบริษัทจะนำไปกำจัดตามแต่ละประเภทของขยะอย่างเหมาะสม
ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการจัดการของเสียโรงไฟฟ้าไซยะบุรี
สำหรับภายในสำนักงาน บริษัทและโรงไฟฟ้าระบบพลังงานความร้อนร่วม บางปะอินโคเจนเนอเรชั่น ดำเนินการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อสามารถบริหารจัดการ คัดแยก นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล/นำไปใช้ใหม่ในอนาคตได้อย่างเหมาะสม และสร้างจิตสำนึกในการลดการสร้างขยะ โดยจัดกิจกรรมอบรมเรื่อง "ทิ้งขยะให้ถูกถัง เพิ่มพลังรักษ์โลก" ให้กับผู้บริหารและพนักงานได้ทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะที่ถูกต้อง พร้อมทั้ง การทิ้งขยะอย่างไรให้ถูกต้องตามประเภทของถังขยะแยกประเภทที่ทางบริษัทได้จัดไว้ให้ โดยมีพนักงานเข้าร่วมอบรมเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 57 ของพนักงานทั้งหมดนอกจากการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรภายในองค์กรแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญต่อการจัดการของเสียของชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงไฟฟ้า โดยได้จัดกิจกรรมการอบรมแก่ผู้อยู่อาศัยโรงไฟฟ้าไซยะบุรี จำนวน 192 คน ในหัวข้อประเภทของขยะมูลฝอย วิธีการคัดแยกและกำจัดขยะมูลฝอยแต่ละประเภท รวมถึงหลักการลดการสร้างขยะ 3R ได้แก่ Reduce Reuse และ Recycle เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกวิธี พร้อมมีการติดตามผลตรวจสอบความถูกต้องในการทิ้งขยะของผู้อยู่อาศัยอีกด้วย โดยมีเป้าหมายปี 2664 ในการลดปริมาณขยะทั่วไปต่อผู้อยู่อาศัยลงให้ได้ร้อยละ 20 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการขยะภายในบริษัทอย่างยั่งยืน
โครงการประหยัดพลังงานภายในสำนักงาน
"บริษัทและบริษัทในเครือได้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์โครงการประหยัดพลังงานและน้ำใช้ในสำนักงานให้กับผู้บริหารและพนักงานทุกท่านทราบ เพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและรู้คุณค่า และปฏิบัติตามด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทาง Email และ Intranet ของบริษัท และจัดทำคู่มือการประหยัดพลังงานในสำนักงาน ส่งเสริมการรับรู้และการนำไปปฏิบัติงานและร่วมกันอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรภายในสำนักงาน รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ รณรงค์การปิดไฟหลังใช้งาน การถอดปลั๊ก และปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังใช้งาน รวมทั้งการรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
- เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำประปาในสำนักงาน
- เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำประปาในสำนักงาน
- เพื่อลดภาวะโลกร้อน
- เพื่อให้พนักงานทุกคนได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว รวมทั้งยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและรู้คุณค่า
- เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า น้ำประปา ในสำนักงานของบริษัทและบริษัทในเครือ ให้น้อยลง คิดเป็นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา"
เป้าหมายระยะยาว 3-5 ปี
- ดำเนินการเก็บข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาของทั้งบริษัท และโรงไฟฟ้า เป็นเวลา 5 ปี เพื่อทำการเก็บข้อมูลและทำการวิเคราะห์ผลและแนวโน้มการใช้ไฟฟ้า และน้ำประปา
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากร และเลือกใช้อุปกรณ์สำนักงานที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- สร้างจิตสำนึกในการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาอย่างมีคุณค่า
จากการดำเนินการรวบรวมข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าของบริษัท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่าบริษัทและบริษัทในเครือสามารถลดใช้ทรัพยากรไฟฟ้าคิดเป็นจำนวน 801.20 mWh หรือคิดเป็นมูลค่า 432,589.30 บาท และสามารถลดใช้ทรัพยากรน้ำเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาคิดเป็นจำนวน 21.34 Mega Liter โดยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 5,598.25บาท


โครงการ “ลดการใช้น้ำมันหล่อลื่น ของ GAS COMPRESSOR”
โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอ์เรชั่น ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบฉีดน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพและพอเหมาะกับปริมาณความต้องการใช้ จึงทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันหล่อลื่นลดลงและลดปริมาณของเสียอันตรายที่เกิดจากน้ำมันใช้แล้วอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2563 โรงไฟฟ้าสามารถลดปริมาณใช้น้ำมันหล่อลื่นและของเสียอันตราย ประมาณ 7,200 ลิตร/ปี ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อน้ำมันหล่อลื่นและค่ากำจัดน้ำมันใช้แล้ว ประมาณ 209,000 บาท/ปี
โครงการถังขยะแยกประเภท
บริษัทและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บางปะอินโคเจนเนอเรชั่น ได้จัดทำโครงการถังขยะแยกประเภท เพื่อคัดแยกขยะภายในสำนักงานให้ถูกประเภท รวมถึงสามารถนำขยะแต่ละประเภทเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล/กำจัดอย่างถูกวิธี และนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยดำเนินการจัดทำถังขยะแยกประเภทวางบริเวณจุดต่าง ๆ ภายในสำนักงาน แบ่งประเภทขยะไว้ 6 ประเภท คือ 1) ขยะทั่วไปไม่มีกลิ่น 2) กระดาษ 3) พลาสติกรีไซเคิล 4) ขยะอันตราย 5) ขยะติดเชื้อ 6) ขยะเปียก และทำการบันทึกน้ำหนักขยะแต่ละประเภทเพื่อเป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบการลดปริมาณขยะในอนาคต รวมถึงปลูกฝังให้พนักงานรู้จักการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทั้งนี้ ได้มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของประเภท การคัดแยกขยะที่ถูกต้องให้กับพนักงานและผู้บริหาร โดยการจัดกิจกรรมอบรม เรื่อง "ทิ้งขยะให้ถูกถัง เพิ่มพลังรักษ์โลก" พร้อมทั้งได้มีการเผยแพร่เอกสารอบรมผ่านทาง Mobile Application: CKPower Academy

โครงการ “Paper-X” (แยกกระดาษ ง่ายนิดเดียว)
ด้วยความพยายามที่จะลดปริมาณขยะ และนำขยะประเภทกระดาษมารีไซเคิลและใช้ใหม่ให้เกิดคุณค่าสูงสุด บริษัทร่วมกับโครงการ Paper-X จัดทำโครงการให้พนักงานมีส่วนร่วมคัดแยกกระดาษอย่างถูกวิธีโดยมีเป้าหมายในการรวบรวมกระดาษที่ไม่ใช้แล้วถึง 1,000 กิโลกรัม ซึ่งโครงการนี้จะแบ่งกระดาษออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) กระดาษขาว 2) กระดาษลัง/กระดาษนํ้าตาล และ 3) กระดาษอื่น ๆ เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกระดาษอย่างถูกวิธี และนำไปผลิตเป็นกระดาษใหม่ ก่อนที่จะถูกนำไปแจกจ่ายให้แก่ โรงเรียนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งผลจากโครงการนี้คือ พนักงานสามารถคัดแยกกระดาษที่ไม่ใช้งานแล้วได้ถูกประเภท ลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตกระดาษ และสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับนักเรียนที่อยู่ในบริเวณรอบโรงไฟฟ้า โดยในปี 2564 บริษัทสามารถจัดส่งกระดาษที่ไม่ได้ใช้แล้วเข้ากระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีจำนวน 1.3 ตัน และสามารถนำกลับมาผลิตเป็นกระดาษใหม่ได้จำนวน 25 รีม เพื่อนำส่งมอบให้กับโรงเรียนรอบ ๆ โรงไฟฟ้า โดยหากคิดค่ากระดาษรีมละ 90 บาท จะเป็นมูลค่า 2,250 บาท และสามารถลดการใช้ทรัพยากรในส่วนของการผลิตกระดาษขาวได้ดังนี้ ลดการตัดต้นไม้ 0.98 ต้น ลดการใช้น้ำ 402.50 ลิตร ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 21.85 ลิตร และลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 230 kWh
โครงการลดขยะ
บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดการใช้ทรัพยากรตั้งแต่ต้นทาง ตลอดจนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักการ 7R’s (Reduce, Reuse, Refill, Return, Repair/Repurpose, Replace และ Recycle) จึงได้เริ่มโครงการลดขยะ โดยการงดแจกถุงพลาสติกที่ร้านสะดวกซื้อภายในโรงไฟฟ้า และรณรงค์ให้พนักงานใช้ถุงผ้า และงดการใช้กล่องโฟมในโรงอาหารโดยเปลี่ยนมาใช้ภาชนะกระดาษทดแทน ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนเมษายนถึงธันวาคม 2564 บริษัทสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้ถึง 16,800 ถุง และลดการเกิดขยะจากกล่องโฟมไปได้ถึง 5,460 กล่อง
โครงการขวดชนะ
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการคัดแยกขยะภายในบริษัท ปลูกฝังจิตสำนึกให้พนักงาน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่ขวดพลาสติก PET ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ บริษัทได้จัดโครงการขวดชนะ ซึ่งได้ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมขวดพลาสติก PET ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว โดยมีระยะเวลาโครงการเพียงแค่ 9 วัน บริษัทสามารถรวบรวมขวดพลาสติก PET ได้ถึง 120 กิโลกรัม หรือเท่ากับขวดพลาสติก PET ถึง 5,400 ขวด โดยสามารถนำไปผลิตเป็นหน้ากากผ้าได้ถึง 6,600 ชิ้น และสามารถเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนวัดจากแดง ถึง 133,000 บาท


โครงการลดการพิมพ์เอกสารสีในองค์กร
เพื่อส่งเสริมแนวคิดของพนักงานในองค์กรให้ตระหนักถึงความจำเป็นก่อนการใช้ทรัพยากร และเพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการช่วยกันประหยัด การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยลดการพิมพ์เอกสารสีที่ไม่จำเป็น รวมถึงการปรับเปลี่ยนจากการใช้เอกสารซึ่งต้องพิมพ์ออกมาบนกระดาษ (hard copy) เป็นการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-documents) โดยในการดำเนินงานของทุกหน่วยงานต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย กฎระเบียบในการดำเนินงาน อาทิ มาตรฐานบัญชี เป็นต้น จากการดำเนินโครงการ สรุปข้อมูลปริมาณการพิมพ์เอกสารสีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่า บริษัทและบริษัทในเครือสามารถลดปริมาณการพิมพ์สีคิดเป็นร้อยละ 32.94 หรือคิดเป็นมูลค่าจำนวน 478,834 บาท
การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในการควบคุมปริมาณการปล่อยมลสารทางอากาศ
การผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 80 ของบริษัท ได้มาจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy) เช่น พลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ จึงไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและไม่มีการปล่อยมลพิษทางอากาศออกจากโรงไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง บริษัทได้มีการเฝ้าระวังและตรวจวัดคุณภาพอากาศของโรงไฟฟ้าโดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ (Continuous Emission Monitor System: CEMs) บริเวณปล่องระบายอากาศ และแสดงผลการตรวจวัดแบบ Real-time อีกทั้งติดตามและตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้า ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศตามรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)อย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยในปี 2564 คุณภาพอากาศของโรงไฟฟ้าอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดทั้งหมด
ความหลากหลายทางชีวภาพ
ธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรต่าง ๆ ที่สำคัญ และจำเป็นยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ในปัจจุบัน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการพัฒนาของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิด หรือการสูญเสียแหล่งที่อยู่ของสัตว์ CKPower มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ จากวิสัยทัศน์ที่ต้องการส่งมอบความมั่นคงทางพลังงานสะอาดบนแนวทางแห่งความยั่งยืน

ปี 2564 มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP 15) ที่ถกเถียงกันถึงประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ว่าระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญต่อการบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และช่วยให้ชุมชนปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตภายใต้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการประชุมดังกล่าวมีแนวโน้มที่ทางองค์กรสหประชาชาติจะออกข้อบังคับให้องค์กรเอกชนทั่วโลกจัดทำรายงานการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (Taskforce on Nature-related Financial Disclosure : TNFD) เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 15 (SDG) ซึ่งมีผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับมราบริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากธุรกิจของบริษัทมีความเกี่ยวข้องกับความหลากลายทางชีวภาพโดยรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งมีความเกี่ยวโยงอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตและสังคมของชุมชนโดยรอบ ดังนั้น ในการดำเนินงาน บริษัทจึงมีการกำหนดเป็นนโยบายอย่างชัดเจนและมีแนวทางปฏิบัติ เพื่อดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งชุมชนโดยรอบ ดังนี้
บริษัทมุ่งมั่นในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้เป็นไปตามตามเกณฑ์ของกฎหมายและ ข้อกำหนด รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้มีการควบคุม ป้องกัน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และฟื้นฟู ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมุ่งเน้นการป้องกันมลผลพิษที่แหล่งกำเนิด พร้อมทั้ง ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ รักษาสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียตามหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งร่วมมีการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้ผลกระทบโดยตรง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโครงการของบริษัทเพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ อันรวมไปถึงสื่อสารให้ผู้บริหาร และพนักงาน มีความรู้ ความเข้าใจ ในการสร้างการตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนและปรับปรุงกระบวนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และยกระดับประสิทธิภาพการจัดการและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
บริษัทได้ดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านในทุกโครงการ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่ครอบคลุมด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ ซึ่งรวมถึงประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพได้ดำเนินการบริหารจัดการตั้งแต่การออกแบบ โดยบริษัทกำหนดเป้าหมายในการพิจารณาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพในโครงการใหม่ จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า โครงการของบริษัทและบริษัทในเครือ มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมครบทุกโครงการ และไม่มีโครงการที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่มรดกโลก
กิจกรรมปล่อยปลา
โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอร์เรชั่น ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และบริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมปล่อยปลา โดยปล่อยพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ จำนวน 13,000 ตัว บริเวณท่าน้ำวัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่รอบบริเวณโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น เพื่อให้พันธุ์ปลาซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญได้เจริญเติบโตและคงอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตของชุมชนต่อไปเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
ระบบทางปลาผ่านแบบผสม (MULTI-SYSTEM FISH PASSING FACILITIES) ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี
โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ขนาด 1,285 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงระหว่างแขวงไซยะบุรีและหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อปลายเดือน ตุลาคม ปี พ.ศ. 2562 โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งนี้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบวิศวกรรมสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนให้แก่ธรรมชาติในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเป็นโรงไฟฟ้าประเภทฝายทดน้ำ (run-of-river) แห่งแรกในภูมิภาค ซึ่งปล่อยน้ำไหลผ่านโครงสร้างโรงไฟฟ้าตลอดเวลาโดยไม่มีการกักเก็บหรือเบี่ยงน้ำออก จากการออกแบบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ทันสมัยและยอดเยี่ยม ทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้สามารถหลีกเลี่ยง ป้องกัน และลดผลกระทบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ลักษณะพิเศษของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี คือ ระบบทางปลาผ่านแบบผสมหรือ “Multi-System Fish Passing Facilities” ซึ่งถูกออกแบบให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติกรรมปลาในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ โดยธรรมชาติของปลาจะว่ายทวนกระแสน้ำไปยังบริเวณเหนือน้ำ เมื่อถึงช่วงเวลาขยายพันธุ์และวางไข่ ระบบทางปลาผ่านที่เหมาะสมจะช่วยรักษาระบบนิเวศ คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ปลาและรักษาวงจรชีวิตสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง
นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้ร่วมมือกับ Charles Sturt University และสถาบันวิจัยการเกษตร ประเทศออสเตรเลีย ศูนย์ค้นคว้าการประมง สถาบันค้นคว้ากสิกรรมและป่าไม้แห่งชาติ สปป.ลาว (Living Aquatic Resources Research of Lao: LARReC) และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (National University of Lao: NUOL) เพื่อศึกษาประเมินประสิทธิภาพของระบบทางปลาผ่าน โดยได้มีการใช้ Passive Integrated Transponder: PIT Tag System คือการฝังชิพในตัวปลาเพื่อศึกษาพฤติกรรมของปลา และการใช้กล้องตรวจวัดด้วยคลื่นเสียงใต้น้ำสามมิติ (3D Hydroacoustic Cameras, DIDSON and ARIS) เพื่อติดตามพฤติกรรมการอพยพและความเคลื่อนไหวของปลาบริเวณโรงไฟฟ้า ผลที่ออกมาคือ ในเดือนเมษายน ปี 2564 ปลามากกว่า 100 สายพันธุ์สามารถอพยพผ่านไปด้านเหนือน้ำได้อย่างปลอดภัย

